เตือน! ไข้เลือดออกจ่อระบาดอีกปีนี้ ป้องกันได้อย่างไร เช็คเลยที่นี่

03 มิ.ย. 2566 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 04:54 น.

เตือน! ไข้เลือดออกจ่อระบาดอีกปีนี้ ป้องกันได้อย่างไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลจากกรมควบคุมโรคไว้ให้หมดแล้ว หลังประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ตามวงรอบของปีที่จะระบาด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เมื่อฝนตกจะทำให้น้าขังในภาชนะกลายเป็นแหล่งวางไข่ของยุง 

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 พ.ค. 66 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ป่วยจำนวน 18,173 ราย เสียชีวิต 15 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 5-14 ปี (6,088 ราย อัตราป่วย 79.00) รองลงมา 15-24 ปี (4,247 ราย อัตราป่วย 49.53) 

ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคม คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และระยอง 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อไปอีกว่า ลักษณะอาการของ "โรคไข้เลือดออก" คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก 

ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งลักษณะอาการบางอย่างของโรคไข้เลือดออก อาจมีอาการคล้ายกับโรคโควิด 19 

"ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด"

ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่คือเด็กมีภาวะอ้วน รองลงมาคือไปรับการรักษาล่าช้า และได้รับยาในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งในขณะนี้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน 

"ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ ช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน จัดการขยะ เก็บกวาดเศษใบไม้ทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดโปร่ง พร้อมทั้งสำรวจและกำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายในโรงเรียนทุกสัปดาห์"

อย่างไรก็ดี การป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีที่สุด คือการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น 

โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่  

  • เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  
  • เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย 
  • เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย 

ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ 

  • โรคไข้เลือดออก 
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 
  • โรคไข้ปวดข้อยุงลาย