โรคเท้าปุกคืออะไร อาการเป็นยังไง รักษาได้ไหม เช็คเลยที่นี่

03 มิ.ย. 2566 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 14:41 น.

โรคเท้าปุกคืออะไร อาการเป็นยังไง รักษาได้ไหม เช็คเลยที่นี่ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลเลิดสินไว้หใ้แล้ว แนะรีบพบแพทย์เร็วที่สุดตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มรักษาทันที

โรคเท้าปุกเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิต โดยหากรักษาเร็วก็จะช่วยได้มาก

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปพบกับคำตอบของโรคเท้าปุกว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้คอยสังเกตุ จะเป็นอย่างไรบ้างไปติดตามกันได้เลย

โรคเท้าปุก (clubfoot) เป็นโรคที่เท้ามีลักษณะงุ้มเข้า บิดตะแคง และเขย่ง โดยเป็นความผิดปกติของเท้าที่พบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคเป็นแต่กำเนิด ถ้ารักษาเร็วจะได้ผลดีโดยไม่ต้องผ่าตัด 

ทั้งนี้ การรักษาทำได้โดยการดัดเท้าและใส่เฝือกต่อเนื่อง หากการใส่เฝือกไม่ได้ผล จึงพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด เมื่อรักษาหาย เด็กจะวิ่งเล่นได้ดีสามารถใช้ชิวิตอย่างมีความสุข

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "โรคเท้าปุก" ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้ของโรค แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ได้แก่ กรรมพันธุ์ ลูกคนแรก พัฒนาการเท้าผิดปกติในครรภ์ และโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อเจริญเติบโตของเท้า เป็นต้น ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เช่น การดัดเท้าใส่เฝือกให้เท้าตรงก่อน ใส่รองเท้าเฉพาะ จะทำให้รูปเท้าโตปกติ และการรักษาระยะต่อมาง่ายยิ่งขึ้น

นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า บางรายสามารถตรวจพบได้จากการอัลตร้าซาวด์ในช่วงที่มีการฝากครรภ์ ทำให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการรักษาเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว 

แต่โดยทั่วไปโรคนี้อาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกเด็ก ก็สามารถให้การวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายเด็กหลังจากคลอดออกมาแล้วโดยไม่ได้ทำให้การรักษาช้าเกินไป ปกติจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีของเท้าเพื่อยืนยันการเป็นโรคนี้ 

โรคเท้าปุกคืออะไร อาการเป็นยังไง รักษาได้ไหม สรุปครบจบที่นี่

นอกจากการตรวจส่วนเท้าที่มีความผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายระบบอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุร่วมที่อาจทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น เช่น ระบบประสาทกล้ามเนื้อ เป็นต้น
      
นายแพทย์ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม หัวหน้าหน่วยออร์โธปิดิกส์เด็ก สถาบันออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า เท้าปุกแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  • เท้าปุกเทียมพบตั้งแต่แรกเกิด เท้าจะมีลักษณะผิดปกติดังกล่าวข้างต้นทุกประการ มักเกิดในลูกคนแรกที่มดลูกคุณแม่ยังมีความกระชับมาก แต่เมื่อจับดัดเท้าให้เข้ารูปเบาๆ เท้าก็จะมีลัษณะเป็นปกติ ดังนั้นแค่สังเกตอาการ หรือการใส่เฝือกเพียงครั้งเดียวความผิดรูปก็จะดีขึ้นได้เอง 
  • เท้าปุกที่ไม่ทราบสาเหตุ เท้าจะผิดรูปที่ไม่สามารถดัดให้ตรงได้จากการจับเพียงอย่างเดียว เกิดจากการเจริญผิดปกติของเท้าระหว่างอยู่ในครรภ์ รักษาโดยการดัดและใส่เฝือกเท้าต่อเนื่องหลายครั้ง หรืออาจต้องผ่าตัดจึงจะหาย 
  • เท้าปุกร่วมกับโรคอื่น เป็นเท้าผิดรูปที่เกิดร่วมกับโรคทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ โรคข้อยึด หรือโรคอื่นๆ แม้ว่าจะรักษาได้โดยการดัดและใส่เฝือกต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ต้องใส่เฝือกหลายครั้งกว่ามาก และมีโอกาสต้องรักษาโดยการผ่าตัดสูงกว่า 

"เท้าปุกทุกประเภท ควรมาพบแพทย์เร็วที่สุดตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มรักษาโดยทันที เพราะจะทำให้การรักษาได้ผลดีมากที่สุด"