ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว (ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความเกี่ยวกับการดื่มไวน์ที่สามารถช่วยชีวิตของสมองเสื่อม ว่า
ไวน์ ช่วยชีวิตคนสมองเสื่อม
หมอธีระวัฒน์ ออกตัวก่อนเลยว่า เห็นหัวข้อนี้คาดว่าจะมีคนค้อน ทำตาปะหลับ ปะเหลือกว่า ส่งเสริมมอมเมาสิ่งเสพติดหนักเข้าไปใหญ่ ต้องเข้าใจว่า ที่หมอดื้อเผยแพร่ บทความมาตลอดหลายปีนี้ อ้างอิงจากหลักฐานทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และการตีความ ไม่ได้เป็นการเข้าข้างตนเอง อวยใคร หรือเพื่อผลประโยชน์ทางใดก็ตาม
ทั้งนี้ ในสากลโลกจะมีการสอดแทรกหลักฐานที่ไม่ครบ เลือกบางส่วน หรือแม้แต่บิดเบือน แน่นอนคนทั่วไปฟังไม่รู้เรื่องและไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เพราะเป็นเนื้อหาในด้านลึก จะมีแต่คนในวงการเท่านั้นที่รู้
เรื่องไวน์ โดยเฉพาะไวน์แดง เป็นผลของการศึกษายาวนานและเริ่มมีการประชุมทางวิทยาศาสตร์ของสถาบัน New York Academy of science และตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 2011 และหลังจากนั้นมีรายงานเป็นระยะ ทั้งจากของสถาบันนี้และงานทางด้านพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แต่ไวน์แดง แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นส่วนที่อยู่ในน้ำแดงนี้ ซึ่งมีหลายตัว และอยู่ในผลไม้นานาชนิด แต่ทั้งนี้ ต้องร่วมกับผักผลไม้กากใยที่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน มิฉะนั้นสารเคมีเหล่านี้กลับเหนี่ยวนำให้มีการอักเสบ เกิดโรคมะเร็ง โรคสมอง โรคหัวใจ เส้นเลือดตีบตัน สมองเสื่อมเต็มไปหมด
โดยที่อัตราส่วนของผักกับผลไม้จะอยู่ที่สองต่อหนึ่ง โดยในหนึ่งวันจะต้องทาน 475 กรัม หรือพูดง่ายๆคือครึ่งกิโลกรัม โดยที่ไปซื้อที่ตลาดก็ลองให้ชั่งดู และทานประมาณนั้น
ไม่ว่าจะเป็นผักสดล้างสะอาด ผัดผัก ผักต้ม สุกี้ ก็น่าจะได้ และให้เต็มสูตรก็คือ ปลาไม่ว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็ม กุ้ง หอย ปู ได้หมด ร่วมกับน้ำมันมะกอกที่ต้องไม่ถูกความร้อนแบบป้ายแดง (extra-virgin) วันละสี่ช้อนโต๊ะ แต่ถ้าไม่ถูกปากคนไทยก็ตัดทิ้ง ทำเป็นส้มตำไทยๆก็ได้ สูตรดังกล่าวนี้ พิสูจน์แล้วถ้าจำไม่ผิดก็คือประมาณสี่ปีที่แล้ว พบว่าทำให้สายทีโลเมียร์ยาวขึ้นและน่าจะช่วยให้ชีวิตยืนยาว สุขภาพดี ไม่มีโรค
กลับมาที่น้ำแดงและสารที่อยู่ในผลไม้ต่างๆ เปรียบเสมือนกับไปออกผลกับยีนที่ควบคุมการใช้พลังงานของเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายไม่ให้ทำงานหนักมากเกินไป และทำให้ใช้พลังงานอย่างสมเหตุสมผล มัธยัสถ์ประหยัด โดยที่ขยะหรือของเสียที่เกิดขึ้นในเซลล์ สามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โรงพลังงานในเซลล์นี้ก็คือไมโตคอนเดรีย ซึ่งถ้ามีการใช้งานกระฉับกระเฉงเกินไปจะเกิดดีเอ็นเอผิดปกติเกิดขึ้น
และถ้าจะทำเช่นนั้นต่อ ตัวโรงงานนี้จะต้องตัวใหญ่ขึ้น นัยว่า พยายามเอาของดีมาทำให้ของเสียเจือจางลง (ไม่ได้พูดถึงการเมืองไทยนะครับซึ่งน่าจะเป็นไปไม่ได้) แต่ต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล หรือไม่ก็ถีบไสไล่ส่งดีเอ็นเอขยะเหล่านี้แยกออกไปทิ้งนอกเซลล์ แต่เมื่อใช้ระบบประหยัดมัธยัสถ์แถมยังมีการทิ้งของเสียในท่อระบายขยะที่ใหญ่กว้าง ก็จะทำให้ชีวิตยืนยาวไม่เป็นโรค
หมอธีระวัฒน์ บอกว่า ตัวอย่างเช่นนี้เห็นได้ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ขึ้นมาจนถึงสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ แบบที่เห็นในกบจำศีลหรือหมีจำถ้ำ ที่อยู่ท่ามกลางหิมะน้ำแข็งหลายเดือน ไม่กินอะไร แต่เมื่อออกมาจากถ้ำ ปรากฏว่าตัวเพรียว ปราดเปรียว ขนสวย สุขภาพแข็งแรง
โดยไปผ่านที่ยีนที่ควบคุม TOR โดยตัวที่น้ำแดงของเราและผักผลไม้ออกฤทธิ์จะอยู่ที่ยีนเหนือขึ้นไป เช่น sirtuin และมียีนอีกหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้องและโปรตีนต่างๆ ที่ขณะนี้ค้นพบแล้วหลายตัว ซึ่งเมื่อปี 2021 เริ่มมีการศึกษาหมายืนยาวชีวิตผาสุก โดยศึกษาครบถ้วนกระบวนความของระบบโอมิก (OMIC) ทั้งจีโนมิกส์ ทริปโตมิกส์ เอปิจีโนมิก เมตาโบโลม โปรติโอม และหลายๆโอมิกส์ ทั้งหมดรวมกระทั่งถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมอาหารที่บริโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่น้ำแดงช่วยสมองเสื่อม เป็นการศึกษาจากคณะทำงาน ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางอาหาร Pennsylvania state University และตีพิมพ์บทความการศึกษาในวารสารประสาทวิทยา (Neurology) ที่พวกเราใช้กัน ในวันที่ 26 มกราคม 2022
ผลที่ได้ก็คือผลไม้เบอร์รี ไวน์แดง และอาหารที่อุดมด้วยฟลาโวนอยด์ จะลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน โดยที่โรคนี้เป็นหนึ่งในสมองเสื่อมที่สำคัญ และกลไกการเกิดโรค การดำเนินโรคจะคล้ายคลึงกันกับสมองเสื่อมแบบอื่น เช่น อัลไซเมอร์ โดยมีการติดตามอย่างเข้มข้นในคน 1,200 ราย
ทั้งก่อนที่จะเกิดและหลังจากที่เกิดโรคพาร์กินสันไปแล้ว โดยคนที่กินอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สามมื้อต่ออาทิตย์ขึ้นไปจะตายน้อยลง 70% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานเพียงแค่หนึ่งมื้อหรือทานนิดหน่อยต่อเดือน
และไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของการตาย แต่จะเป็นเรื่องของการที่ชะลอไม่ให้โรคไปเร็วเป็นสำคัญที่ส่งผลในทางบวกเช่นนี้ ผักผลไม้เหล่านี้คือพวกที่มีสีสัน ตระกูลเบอร์รี แอปเปิ้ล ส้ม ผัก บรอกโคลี เคล และเครื่องดื่มที่รวมถึงชาและไวน์แดง โดยที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านการอักเสบเป็นสำคัญและทำให้เซลล์มีชีวิตยืดยาวแข็งแรง
งานก่อนหน้านี้ที่คณะนี้ได้รายงานไปแล้วก็คืออาหารและเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวจะช่วยชะลอการเกิดโรคพาร์กินสัน และงานนี้เป็นการยืดชีวิตของคนที่เป็นพาร์กินสันออกไปอีก
กลุ่มประชากรที่ทำการศึกษานี้ มาจาก Nurses’ Health Study (NHS) ที่เป็นกลุ่มของพยาบาลผู้หญิงที่เริ่มตั้งแต่ปี 1976 และรวมกับกลุ่มผู้ชายที่อยู่ในกลุ่ม Health professionals follow up study (HPFS) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1986 และมีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เข้าการศึกษาและติดตามเป็นระยะ ทั้งลักษณะเฉพาะบุคคล สไตล์การดำเนินชีวิต พฤติกรรมส่วนตัว โรคประจำตัว เป็นต้น
โดยมีการประกอบควบรวมกับการวิเคราะห์อาหาร ลักษณะ และชนิดของอาหารและส่วนประกอบที่เป็นมาตรฐานเรียกว่า Food frequency questionnaire โดยเพ่งเล็งที่ฟลาโวนอยด์ทั้งหมด และกลุ่มย่อยทั้งหกและชนิดของอาหารต่างๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว
การศึกษาจะรวมตั้งแต่ก่อนเกิดโรคและหลังจากที่เกิดโรคไปแล้ว โดยคำนึงถึงแม้เมื่อเกิดโรคไปแล้วจะทำให้มีการเคลื่อนไหวลำบากในการหยิบจับอาหาร การประกอบอาหาร การเอาอาหารเข้าปาก ความยากลำบากในการกลืนและการเคี้ยว
สำหรับการประเมินว่ากินบ่อยแค่ไหนนั้น จะแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มแรกคือกินอาหารที่มีฟลาโวนอยด์หนึ่งมื้อหรือน้อยกว่าต่อเดือน กลุ่มที่สอง หนึ่งถึงสามมื้อต่อเดือน กลุ่มที่สามหนึ่งถึงสองมื้อต่ออาทิตย์และกลุ่มที่สี่ สามมื้อหรือมากกว่าต่ออาทิตย์
การศึกษานี้มีสตรี 599 ราย และบุรุษ 652 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่เอี่ยมว่าเป็นโรคนี้ อายุที่เกิดมีโรคพาร์กินสันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 72 ปี และช่วงระยะเวลาระหว่างก่อนที่จะเกิดโรค โดยที่ได้รับการประเมินเรื่องอาหารไปแล้ว จนกระทั่งถึงตอนที่ได้รับการวินิจฉัยจะอยู่ที่ 32 เดือน
การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในกลุ่มศึกษานี้ พบว่าในบุรุษจะอยู่ที่ 528 ราย และในสตรีอยู่ที่ 416 ราย ระยะการติดตามเฉลี่ย 33 ปีด้วยกัน...เมื่อทำการปรับตัวแปรทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอายุ การใช้ชีวิตและอื่นๆ ตลอดจนกระทั่งถึงปริมาณ
พลังงานจากอาหารที่กิน กับการกินกาแฟด้วย พบว่ายิ่งกินอาหารผักผลไม้ ไวน์แดงมากเท่าใด ก็จะสัมพันธ์กับการที่เสียชีวิตน้อยลง แต่ความสัมพันธ์นี้จะชัดเจนในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะขาดทุนโดยที่ฟลาโวนอยด์ ไม่ช่วยชะลอการเกิดโรคแต่เมื่อเกิดโรคไปแล้วจะพบว่าโรคไปช้ากว่า
และส่วนสำคัญของฟลาโวนอยด์ จะเป็น anthocyanin flavones flavan-3-ols และยิ่งกินมากโดยเฉพาะมากกว่าสามมื้อต่ออาทิตย์จะได้รับอานิสงส์นี้สูงสุด โดยที่ flavan-3-ols จะมีมากในชา
และแม้แต่เมื่อเกิดโรคพาร์กินสันแล้ว การที่ยังคงกินอาหาร ผักผลไม้ ไวน์ ที่มากฟลาโวนอยด์เหล่านี้ ก็ยังยืดชีวิตออกไปได้ด้วยทั้งผู้ชายและผู้หญิง
หมอธีระวัฒน์ บอกอีกว่า มีข้อเตือนใจจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรพาร์กินสัน ว่าใครที่ไม่ได้กินไวน์แดงมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเริ่มกิน แต่ถ้าจะเริ่มกิน ควรจะได้รับคำปรึกษาว่าจะกินจะดื่มอย่างไรเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ทำลายสุขภาพ
ซึ่งก็เป็นเรื่องกำปั้นทุบดิน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือในที่นี้ คือไวน์แดง ถ้ามากไปมึนเมาไม่ใช่เป็นอันตรายต่อตนเองแต่มีผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคมด้วย และกลายเป็นโรคร้ายอื่นตามมา ปริมาณที่พอเหมาะน่าจะอยู่ที่หนึ่งถึงสองแก้วไม่เกินสามแก้วมาตรฐานพอชื่นมื่น ครื้นเครงบ้าง แต่ไม่ใช่เอาแต่ไวน์แดงอย่างเดียว
ตัวสำคัญคือ ผักผลไม้กากใยตามที่กำหนดอย่างน้อยชีวิตก็มีสีสันบ้าง ไม่ใช่กินแต่ยาอย่างเดียวการปรับอาหารการกินและเครื่องดื่มก็เป็นวิธีช่วยชีวิตให้มีสุขได้