แนะวิธีลดเสี่ยงเสียชีวิตจาก "โรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง" 

26 มิ.ย. 2566 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2566 | 08:35 น.

สาธารณสุข จับมือสหวิชาชีพ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วย-เสียชีวิตจากโรคหืด-โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผ่านกลไก Easy Asthma and COPD Clinic ขณะที่แพทย์แนะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำทุกปี  

ในการประชุมวิชาการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic network annual meeting) ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวบรรยายหัวข้อ "ความท้าทายของหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนได้เข้าถึงบริการคุณภาพอย่างถ้วนหน้า" พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ในเครือข่าย EACC 1,400 แห่งเข้าร่วมงานจากทั่วประเทศ

ตอนหนึ่ง นพ.ณัฐพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นำมาวิเคราะห์ วางแผนและตัดสินใจโดยจัดทำชุดข้อมูลสุขภาพ บนฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (HDC data)

สำหรับการประชุมเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) ในครั้งนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในวงการแพทย์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดพัฒนาดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผ่านกลไกในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เล็งเห็นโมเดลความสำเร็จของเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนหน่วยบริการสาธารณสุขในการพัฒนาคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2553

มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งมีมากกว่า 700,000 คนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันผลพวงจากสถานการณ์ COVID 19 และฝุ่น PM2.5 ยิ่งส่งผลให้เกิดอาการกำเริบเฉียบพลันและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนมุ่งเน้นผลลัพธ์ในการลดอัตราการป่วยและลดอัตราการตายโรคสำคัญ

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย EACC ในโรงพยาบาลและเครือข่ายของโรงพยาบาลกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศซึ่งได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้องรังแบบง่ายตามมาตรฐานในระดับสากล และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขยายเครือข่ายต่อไป สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข

"ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องเผชิญแทบทุกปี และผลจากภาวะลองโควิด ฯลฯ หลายปัจจัยรุมเร้า คลินิก EACC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสมรรถภาพปอดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยและผู้เปราะบาง ควรเป็นส่วนหนึ่งของการบริการสุขภาพพื้นฐานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกับการวัดระดับน้ำตาล หรือการวัดความดันโลหิต 

สำหรับในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงนั้นควรที่จะได้รับการเข้าถึงการตรวจสมรรถภาพปอดได้ด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านหรือคลินิก EACC ใกล้บ้าน ผ่านการใช้ Peak Flow Meter ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถประเมินสภาวะหลอดลมของผู้ป่วยโรคหืดว่า มีการตีบมากน้อยเพียงใด ประเมินความรุนแรงของภาวะหอบกำเริบ

ช่วยติดตามผลการรักษาและวินิจฉัยในเบื้องต้นซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ติดตามอาการ รักษาและส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งช่วยลดภาระงานของแพทย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผ่านเครือข่าย EACC จากทั่วประเทศได้อีกทางด้วย" รศ.นพ.วัชรา กล่าว