ทำไมชอบเป็น “ตะคริว” ที่ขาขณะนอนหลับ หรือนี่เป็นสัญญาณบอกโรคอะไร

28 มิ.ย. 2566 | 18:02 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 00:18 น.

หลายคนเคยมีประสบการณ์เป็น “ตะคริวที่ขา" ขณะนอนหลับ ระดับความเจ็บปวดนั้น ถึงกับต้องลุกขึ้นมาร้องโอดโอยกันเลยทีเดียว แทนที่จะได้นอนหลับยาวๆอย่างมีความสุข หากเป็นเช่นนี้บ่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคบางอย่าง

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักก่อนว่า “ตะคริว” คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ตะคริวที่เป็นตอนกลางคืนขณะหลับ หรือ Nocturnal Leg Cramps นั้น มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง

ตะคริว (Cramps) เป็นอาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวอย่างฉับพลัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งบริเวณที่เกิดได้บ่อย คือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง และด้านหน้า

ส่วน ตะคริวกลางคืน ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะนอนหลับนั้น มีข้อมูลพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของกล้ามเนื้อ การทำงานผิดปกติของเส้นประสาท และการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดีนัก หรืออาจจะเกิดขึ้นจาก “ภาวะความเจ็บป่วย” บางอย่าง ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่

  • ท่านอนที่ผิดขณะนอนหลับ หากวางเท้าในลักษณะที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้
  • ในตอนกลางวันมักนั่ง หรือยืนในท่าเดิมนานๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย
  • กล้ามเนื้อทำงานหนักมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนัก เดินเป็นระยะทางไกล มีการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขาหนักมาก  
  • กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
  • มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี
  • ปัญหาโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • มีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

การเกิดตะคริวอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนั้น เราจึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย

ทั้งนี้ การเกิดตะคริวอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนั้น เราจึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพื่อแจ้งแก่แพทย์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น

เป็นตะคริวแบบไหน อาการร่วมอย่างไร ควรรีบพบแพทย์

บางคนอาจเป็นบ่อยจนคิดไปว่า  การเป็นตะคริวตอนนอน เป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็เป็น อย่างไรก็ตาม แพทย์แนะนำวิธีสังเกตตัวเอง หากเป็นตะคริวขณะนอน แล้วมี “สัญญาณ” เหล่านี้ อาจบ่งชี้ว่า มีความผิดปกติบางอย่าง ที่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย เช่น

  1. เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยครั้งจนรบกวนการนอน แม้จะดูแลตัวเองดีแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น
  2. มีอาการขาบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
  3. มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

หากคุณไปพบแพทย์ จะมีการซักประวัติ ถามถึงอาการและประวัติการใช้ยาต่างๆ จากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อค้นหาสาเหตุที่เป็นไปได้ รวมถึงอาจมีการเจาะเลือดเมื่อแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย เพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป

วิธีการบรรเทาตะคริวด้วยตัวเอง

โดยส่วนใหญ่ “ตะคริวตอนนอน” มักไม่เป็นอันตราย เราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

  • นวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • ยืดกล้ามเนื้อ โดยเหยียดขาให้ตรง แล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
  • ประคบร้อนในบริเวณที่เป็นตะคริวด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อน หรือประคบเย็นด้วยผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นหนึ่ง
  • หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน

นวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว

และต่อไปนี้เป็น “ตัวช่วย” สำหรับการดูแลตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงตะคริวขณะนอน

เพื่อการนอนหลับสนิทตลอดคืนโดยไม่ต้องตื่นมากลางดึกเพราะเป็นตะคริวที่ขา สิ่งที่เราควรทำประจำวัน ซึ่งทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเปลืองเงิน และไม่เสียเวลาอะไรมากมาย มีดังนี้

  1. พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
  2. ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย
  3. พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
  4. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
  5. พยายามลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
  6. เลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม เช่น โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง อาหารที่มี โพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน ผักโขม และอาหารที่มี แมกนีเซียม เช่น กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ควรได้รับสารอาหารเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป