ส่องระดับน้ำตาลในข้าวแต่ละชนิด แบบไหนมากที่สุด เช็คเลยที่นี่

12 ก.ค. 2566 | 03:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 03:18 น.

ส่องระดับน้ำตาลในข้าวแต่ละชนิด แบบไหนมากที่สุด เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอจิรรุจน์เผยผลทดลองกับตนเองผ่านการกินในปริมาณ 180 กรัมในมื้อแรกของวัน

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise โดยมีข้อความระบุถึงระดับน้ำตาลในข้าวแต่ละชนิดว่า 

ระดับน้ำตาลในตัวหลังกิน ข้าว 3 ชนิด ได้แก่  

  • สีฟ้า-ข้าวหอมมะลิ 
  • สีแดง-ข้าว กข.43 
  • สีเหลือง-ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 

โดยกินในปริมาณ 180 กรัม หรือราว 3 ทัพพี (คาร์บประมาณ 60 กรัม) ในมื้อแรกของวัน ทำในตัวของหมอจิรรุจน์เอง ซึ่งได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวาน และระดับอินซูลิน คำนวน HOMA score อยู่เกณฑ์ ความไวอินซูลินปกติ

ระดับน้ำตาล ติดตามด้วยเครื่อง CGM ที่มีการเทียบค่าก่อนทุกครั้ง 

ผลออกได้ดังนี้  

  • สีฟ้า-ข้าวหอมมะลิ กราฟเป็นสีฟ้า ที่เป็นประเด็นไป ทำระดับได้สูงสุด 188 mg/dl  ประมาณ 90 นาที  พื้นที่กราฟ กว้างใหญ่ตามภาพ กว่าระดับน้ำตาลจะลงต่ำกว่า 100 ก็ราวๆ 3 ชม.กว่าๆ
  • สีแดง-ข้าว กข. 43 ระดับขึ้นสูงสุด  172 mg/dl ที่ประมาณ 60 นาที จากนั้นค่อยๆ ลดลง ต่ำกว่า 100 mg/dl ที่ประมาณ 2 ชม.กว่า ๆ
  • สีเหลือง-ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ระดับขึ้นสูงสุด  147 mg/dl ที่ประมาณ 50  นาที จากนั้นค่อยๆ ลดลง ต่ำกว่า 100 mg/dl ที่ประมาณ 2 ชม.กว่า ๆ ใกล้เคียงกับ ข้าว กข.43  แต่ระหว่างที่กำลังลง มีการดีดขึ้นมา 140 บ้าง 

การกินข้าวในปริมาณดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด มีข้าว 2 ชนิด ที่มีสิ่งที่เหมือนกันเรื่องหนึ่งคือ "ความรู้สึก" คือ ช่วงที่ระดับน้ำตาลสูงขึ้น ขาลง เกิดความรู้สึกหิว หิวแบบต้องหารอะไรสักอย่างกิน ให้ได้  (แต่ก็ทน จนจบการทดลอง)

ส่องระดับน้ำตาลในข้าวแต่ละชนิด แบบไหนมากที่สุด ระดับความหิว ตอนน้ำตาลดีดขึ้นช่วงขาลง ข้าวหอมมะลิหนักสุด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็เป็นแต่ไม่มาก 

ส่วนข้าว กข. 43 มีอาหารหิวบ้างหลังกินข้าว 2 ชม. แต่เบาจนไม่รู้สึกอะไรมาก เท่าข้าว 2 ชนิด 
กล่าวโดยสรุป ข้าวทั้ง 3 ชนิด พาระดับน้ำตาลพุ่งขึ้นได้ เหมือนกัน

แต่สูงสุดคือ ข้าวหอมมะลิ รองลงมาคือข้าว กข.43 และ ไรซ์เบอรรี่  

ส่วนระยะเวลาที่ร่างกายจะเคลียร์น้ำตาลได้ ลงเร็ว อันดับ 1 น่าจะเป็นข้าวไรซ์เบอรร์รี่ ต่อมาคือ ข้าว กข. 43  และที่ลงช้าสุดคือ ข้าวขาวหอมมะลิ

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการทดลองนี้เป็นการทดลองในตัวหมอจิรรุจน์เพียงคนเดียว ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีการตอบสนองแตกต่างออกไป ขึ้นกับ สภาวะต่างๆ ของร่างกายในแต่ละคน  เช่น  คนที่มีภาวะดื้ออินซูลิน/เบาหวานชนิดที่ 2 ก็อาจจะไม่ได้เป็นตามนี้  (โดยมากมักแย่กว่านี้ ) 
 

หมอจิรรุจน์ บอกว่า การนำเสนอนี้ ไม่ได้ต้องการ การโทษข้าว หรือ รังเกียจข้าว เเต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ข้าวแม้มีประโยชน์ แต่ก็มีผลต่อระดับน้ำตาลในร่างกายตามภาพ หากกินในปริมาณมาก หรือการกินเปล่าๆ  

นอกจะทำให้ร่างกายต้องเคลียร์น้ำตาลสูงแล้ว ยังเกิดความรู้สึกหิวเร็ว ทำให้ต้องไปหาอะไรกิน ทั้งที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ต่ำแต่อย่างใด 

เพิ่มเติม : ผู้ทดลองเคยลองกินข้าวหอมมะลิ ในขนาดเดียวกัน พร้อมกับผักสด เนื้อหมู แกงคั่ว แล้วพบว่า ระดับน้ำตาลสูงสุด มีค่าลดลง 20 mg/dl

นั่นแปลว่า อาหารอื่นๆ เช่น ผักที่มีเส้นใย เนื้อสัตว์ ก็สามารถลดการดูดซึมของน้ำตาลลงได้บ้าง