โควิดสายพันธุ์ EG.5.1 คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่โควิดสายพันธุ์ EG.5.1 กำลังมีการแพร่ระบาดอย่างจต่อเนื่อง
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเรื่องดังกล่าวให้คลายความสงสัย
โควิดสายพันธุ์ EG.5.1 นั้น จากการเปิดเผยข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี ระบุว่า EG.5.1 หรือ XBB.1.9.2.5.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.9.2.
มีตำแหน่งกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม คือ S:F456L (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 456 เปลี่ยนจากฟีนิลแอลานีน เป็น ลิวซีน) และ S:Q52H (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 52 เปลี่ยนจากกลูตามีน เป็น ฮีสติดีน)
สำหรับอัตราการแพร่เชื้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในภาพรวมทั่วโลก พบว่า สูงกว่าสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ประมาณ 45%
ด้านสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2566 พบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ ที่พบมากที่สุด คิดเป็น 13.71% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.9.1 คิดเป็น 8.68% และสายพันธุ์ EG.5.1 คิดเป็น 7.33%
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ EG.5.1 จำนวน 5 ราย โดยรายงานครั้งแรกในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 1 ราย เดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 3 ราย และเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 1 ราย ยังไม่พบข้อมูลเรื่องการเพิ่มความรุนแรง
ส่วนสถานการณ์ของสายพันธุ์ EG.5.1 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้ เอเชีย 1,385 ราย ยุโรป 203 ราย โอเชียเนีย 35 ราย อเมริกาเหนือ 360 ราย อเมริกากลาง 4 ราย และอเมริกาใต้ 1 ราย ข้อมูลวันที่ 10 กรกฎาคม 2566
สายพันธุ์ EG.5.1 ในภูมิภาคเอเชีย พบรายงานจาก 11 ประเทศโดยลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อิสราเอล ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไทย และ อินเดีย
นายแพทย์ศุภกิจ ระบุอีกว่า สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันพบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดของประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 17 – 23 มิถุนายน 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 74 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB. 73 ราย (นับรวม XBB.1 ,XBB.1.9 , XBB.2.3 ,XBB.1.5 ,XBB.1.16) คิดเป็น 98.6%
และสายพันธุ์ลูกผสม XBL (XBB.1.5 ผสมกับ BA.2.75) 1 ราย สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้สองอันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 คิดเป็น 56.76% และ 16.22 % ซึ่งไม่พบ EG.5.1 ในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน จำนวน 8 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5 และ XBB.1.16
สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 6 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75 ,CH.1.1 ,XBB ,XBB.1.9.1 ,XBB.1.9.2 และ XBB.2.3