ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรไทย
ทั้งนี้ เพื่อช่วยชะลอ รักษา และบรรเทาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ภายใต้โครงการ Herb for Health ซึ่งด้วยภาวะโลกร้อน ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก เกิดเป็นวิกฤตมลภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตสุขภาพตามมา
อย่างไรก็ดี ฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังเท่านั้น แต่ยังแพร่เข้าสู่กระแสเลือด เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และที่สำคัญยังเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย
ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจจะทวีความรุนแรงต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ติดอันดับโลก
"ด้วยเล็งเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาและทรัพยากรสำคัญของประเทศคือพืชสมุนไพรและยาสมุนไพรที่ทรงคุณค่า ทางคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษและเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพสารสกัดสมุนไพรสู่มาตรฐานโลก จึงดำเนินการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยศักยภาพสูง และนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างองค์กรสุขภาพชั้นนำของประเทศไทย"
ศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะแพทย์ศิริราชมีความเชี่ยวชาญอย่างมากด้านการศึกษาศูนย์วิจัยคลีนิก โดยการนำจุดแข็งทั้งสองสถาบันมารวมกันจะสามารถพัฒนาวิชาการทางด้านการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ดร.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาควิชาเภสัชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการค้นพบและพัฒนายา ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะมีการศึกษาทั้งด้านกลไกการออกฤทธิ์หรือว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารจากสมุนไพรอย่างครบวงจรนะคะ ตั้งแต่ในห้องเพาะเลี้ยงเซลล์ระดับเซลล์และโมเลกุลและก็มีความร่วมมือกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ การที่จะพัฒนายาจากสารอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้กลไกการเกิดโรคเพื่อที่จะมั่นใจว่าสารนั้นมีเป้าหมายการออกฤทธิ์อย่างเจาะจง
“ยกตัวอย่างเช่นมลพิษหรือว่ามลภาวะต่างๆ ส่งผลทำให้เกิดการทำลายสารชีวโมเลกุลไม่ว่าจะเป็นโปรตีน DNA ระดับเซลล์ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA จึงสามารถเป็นสารก่อมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นการค้นพบนี้จะสามารถคัดเลือกสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ได้อย่างจำเพาะ หลังจากนั้นเมื่อผ่านการทดสอบในห้องเลี้ยงเซลล์ในสัตว์ทดลองให้เกิดความมั่นใจว่าสารที่เราค้นพบมีประสิทธิภาพจริง อาจารย์ทางศูนย์วิจัยคลินิกศิริราชก็จะศึกษาต่อในอาสาสมัครเพื่อที่จะมั่นใจในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารนั้น ก่อนที่จะไปสู่กระบวนการการขึ้นทะเบียนและนำไปให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไป”
ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในโครงการเงกล่าวนี้จะได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่าง อย่างเป็นระบบตามมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“มีการให้ความรู้กับเกษตรกรในแหล่งเพาะปลูกถึงกระบวนการควบคุมปริมาณสารพิษต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้สมุนไพรที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถรับซื้อวัตถุดิบของเขาในราคาที่สูงขึ้นได้ด้วย โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการผลิตและควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุดิบสมุนไพรทั้งหมดได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO จะมีการทดลองในอาสาสมัครมนุษย์เพื่อให้ดูประสิทธิภาพ ซึ่งทางศิริราชมีมาตรฐานสากล"