น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้า ยาและเวชภัณฑ์ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
สาระสำคัญของกฎหมาย
ได้กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย มาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูกและสารสำคัญจากพืชดังกล่าว โดยกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกในวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ส่วนการทดลองสกัดมอร์ฟีนจากฝิ่นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ให้ดำเนินการในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี
ร่างพระราชกฤษฎีกายังได้เพิ่มเติมพื้นที่ทดลองเพาะเห็ดขี้ควายเพื่อการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค ในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อให้ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยการนำพืชฝิ่น หรือเห็ดขี้ควาย ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยาต้านการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นอื่น ภายใต้มาตรการควบคุม และลดการนำเข้ายาประเภทมอร์ฟีนจากต่างประเทศในอนาคต
ไทยนำเข้ามอร์ฟีนมาก
ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้ามอร์ฟีนจากต่างประเทศ เนื่องจากขาดองค์ความรู้จากการวิจัยในการนำพืชฝิ่นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยในช่วงปี 2561-2563 ประเทศไทยมีการนำเข้ามอร์ฟีนมูลค่ารวม 400.4 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังขาดองค์ความรู้และผลการศึกษาวิจัยในการนำเห็ดขี้ควายมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากพืชเห็ดขี้ควายจัดเป็นยาเสพติดให้โทษและมีการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้นักวิจัยไม่สามารถดำเนินการศึกษาวิจัยได้
การออกพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ จะเปิดโอกาสให้มีการศึกษาและพัฒนาต่อยอดที่สำคัญสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่ามีสารเคมีสำคัญ 2 ชนิดที่อยู่ในเห็ดขี้ควาย คือ สารไซโลไซบิน(Psilocybin) และสารไซโลซีน (Psilocin) ที่มีข้อบ่งชี้และโอาสในการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อพัฒนายาต้านการซึมเศร้าได้
ทั้งนี้ หากการวิจัยและพัฒนาประสบความสำเร็จจะนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคได้เองในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า รองรับกับแนวโน้มความต้องการยาเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มากขึ้นตามสถานการณ์ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในไทย ที่ระหว่างปี 2558-2563 มีผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเข้ารับการรักษาถึง 1,758,861 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย