สายหวานไม่ถูกใจสิ่งนี้!วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"นำเสนอบทความเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ว่าคืออะไร มีกี่ประเภท วิธีการสังเกตตัวเองว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นเบาหวานนั้นมีข้อสังเกตอะไรบ้าง พร้อมแนะแนวทางการรักษา ป้องกัน ทำอย่างไรให้อยู่ห่างไกลโรคเบาหวาน
รู้จักโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือ โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่หลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งพบได้ในโรคอ้วน
ทั้งนี้สามารถตรวจเบาหวานได้โดยการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารประมาณ 8 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก.ต่อเดซิลิตร หรือตรวจค่าน้ำตาลสะสมได้มากกว่า 6.5% ก็เข้าเกณฑ์ของโรคเบาหวาน
ชนิดของโรคเบาหวาน
วิธีสังเกตอาการว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่
1.ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะบ่อยถึงบ่อยมาก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงจะถูกกรองมาในปัสสาวะที่ไตและทำให้มีปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้นยิ่งผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นเท่านั้น
2.รู้สึกกระหายน้ำ
เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ร่างกายเสียน้ำไปจากการที่ปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ
3.น้ำหนักลดลง
ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากเมื่อเกิดภาวะขาดอินซูลิน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเอาโปรตีนและไขมันที่สะสมไว้มาใช้แทน และทำให้น้ำหนักลดในที่สุด
4.ตาพร่า ตามัว
ในช่วงที่มีน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเพราะเลนส์ตาเกิดการบวมน้ำ ทำให้ไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้ แต่อาการตาพร่า ตามัวนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่อน้ำตาลในเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติ ก็จะทำให้การมองเห็นกลับมาชัดเจนเป็นปกติเช่นกัน
5.ปลายมือปลายเท้าชา
อาการปลายมือปลายเท้าชานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากโรคเบาหวาน โดยจะชาจากปลายมือปลายเท้าแล้วค่อย ๆ ชาไล่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจจะชามากจนรู้สึกปวดได้
แนวทางการดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลเบาหวาน
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
การดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคเบาหวาน อาจจะเริ่มจากการดูแลและควบคุมพฤติกรรมการกินก่อนเป็นอย่างแรก ด้วยการลดปริมาณของหวานหรืออาหารจำพวกแป้งและคาร์โบไฮเดรตต่าง ๆ ลง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน เบเกอรี่ เป็นต้น
2.รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
นอกจากจะลดอาหารหวาน มัน เค็มแล้ว ยังควรหันมาบริโภคอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักใบเขียวให้มากขึ้น รวมถึงควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่พอเหมาะ
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือเต้นแอโรบิก ครั้งละประมาณ 30 นาที ให้ได้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
4.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หมั่นสังเกตอยู่เสมอว่าน้ำหนักลด หรือเพิ่มแบบไม่มีสาเหตุหรือไม่ และพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนเกินไป หรือผอมเกินไป
5.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ลด ละ หลีกเลี่ยง หรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นอาจมีผลข้างเคียงกับยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน รวมถึงโรคอื่น ๆ
6.งดสูบบุหรี่
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
7.ใช้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ คุณหมอก็จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษานั้นก็มีทั้งยากินและยาฉีด ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดและอาการอื่น ๆ ตามแต่คุณหมอพิจารณา
โรคเบาหวานป้องกันได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถป้องกันได้แล้ว มีการศึกษาหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การนำผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด จนมีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างน้อย 7-10% ของน้ำหนักตัวเดิม สามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
โรคเบาหวานสามารถหายขาดได้หรือไม่
ในอดีตความสามารถในการรักษาโรคเบาหวานมีเพียงการควบคุม และการลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเท่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนพบว่ามีวิธีการรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้หายขาดได้
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมาไม่นาน ได้แก่การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย พบว่านอกจากจะสามารถลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถทำให้หายขาดจากโรคเบาหวานได้ในผู้ป่วยบางราย อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดกระเพาะอาหารดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ทุกคน และอาจมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดตามมา แพทย์จึงเลือกทำการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และพบอุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ หากผู้ป่วยทำความเข้าใจกับตัวโรค และให้ความร่วมมือในการรักษา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติได้
ตรวจเบาหวานฟรี เช็คที่นี่
สำหรับประชาชนคนไทยที่ต้องการตรวจเบาหวาน ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้ประชาชนมีหลักเกณฑ์ตรงตามเงื่อนไขเข้ารับการตรวจเบาหวานฟรี ภายใต้โครงการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานในประเทศไทยแบบบูรณาการ ประจำปี พ.ศ. 2566-2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้ารับบริการตรวจเบาหวานฟรี ดังนี้
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจแนะนำให้ประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน (คลิกทำแบบประเมินที่นี่)กรณีได้คะแนนน้อยกว่า 6 คะแนน คือไม่เสี่ยง ไม่ต้องตรวจน้ำตาล กรณีได้คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 6 คะแนน คือเสี่ยง ต้องเจาะน้ำตาลที่ปลายนิ้ว
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อรับบริการตรวจคัดกรองได้โดยยื่นบัตรประชาชนเข้ารับบริการตามสิทธิการรักษาได้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือถ้าในกรุงเทพ และปริมณฑล สามารถเข้ารับบริการได้ที่ สถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ชั้น 1 ตึกกรมการแพทย์
ที่มาข้อมูล -ภาพ