"โรคหัวใจและหลอดเลือด" 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ 

28 ก.ย. 2566 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2566 | 08:36 น.

กรมควบคุมโรค ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก 2566 เผย องค์การอนามัยโลกเปิดข้อมูล 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ง่าย ๆ แค่ยึดหลักปฏิบัติ 3อ. 2ส.  

วันหัวใจโลก (World Heart Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์ลดความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART KNOW HEART : ใช้ใจรับรู้ ดูแล และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 นี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนรับรู้ความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคหัวใจเพราะเมื่อเรารู้มากขึ้นเราก็สามารถดูแลหัวใจได้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และ 80% ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้ 

สำหรับประเทศไทยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สาเหตุการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 

เกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

ปัจจัยความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา

โรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย หน้าที่สำคัญของหัวใจ คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติต่อหัวใจ หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากหลอดเลือดหัวใจตีบตันส่งผลให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้หัวใจทำงานแย่ลงหรือหยุดทำงานและเสียชีวิตได้อีกด้วย 

วันหัวใจโลก ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี

อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก จุกแน่นกลางอก อาจมีเจ็บร้าวไปที่แขน ใจสั่น เหงื่อแตก อาการเจ็บจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่หลอดเลือดหัวใจเริ่มตีบ ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากปล่อยทิ้งไว้จนหลอดเลือดหัวใจตันจนหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 

สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวหรือญาติไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ เช่น ไม่มีรถ สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนหมายเลข 1669 เพราะถ้าหัวใจขาดเลือดจนหัวใจหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะหัวใจหยุดเต้นและหมดสติ หากผู้ป่วยหมดสติแล้วควรรีบทำการกดหน้าอกผู้ป่วย ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED และโทรเรียกรถพยาบาลที่สายด่วนหมายเลข 1669 ทันที 

โรคหัวใจและหลอดเลือดป้องกันได้ ยึดหลัก 3อ. 2ส. 

หลัก 3 อ.

  • รับประทาน "อาหาร" ที่ดีต่อสุขภาพ 
  • หมั่น "ออกกำลังกาย" อย่างสม่ำเสมอ 
  • ควบคุม "อารมณ์" ความเครียด 

หลัก 2 ส.

  • ไม่ "สูบบุหรี่"
  • ไม่ "ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์"  

นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ทุก ๆ ปี ประมาณ 7 ล้านคน หรือ 25% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ดังนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีฝุ่น PM 2.5 หากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง และช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น งดเผาขยะ งดจุดธูป หมั่นเช็กสภาพรถเพื่อลดควันดำ เป็นต้น

ด้านนพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชนในเรื่องปัจจัยเสี่ยง อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทุกช่องทางของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าใจ และการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ช่วยป้องกันหรือรักษาติดตามการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีในระยะยาว 

ดังนั้น ประชาชนกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี สามารถตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือประกันสังคมตามสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากได้รับการวินิจฉัยเป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานแล้วและควรนัดหมายเข้ารับบริการ ตรวจติดตามและรับยาอย่างต่อเนื่อง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในค่าปกติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

วันหัวใจโลกตรงกับวันที่  29 กันยายนของทุกปี