10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก ตะลึง! คนไทยป่วยโรคซึมเศร้าพุ่ง

10 ต.ค. 2566 | 02:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 02:43 น.

10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก WHO เผย 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ด้านกระทรวงสาธารณสุข เปิดข้อมูลพบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้าสูงกว่า 1.24 ล้านคนในปี 2566 แนะยึดหลัก "3 ส" ดูแลคนใกล้ชิด

สหพันธ์สุขภาพจิตโลก ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดย ริชาร์ด ฮันเตอร์ (Richard Hunter) ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต

สำหรับปีนี้ 2566 องค์การอนามัยโลก กำหนดขึ้นภายใต้หัวข้อวันสุขภาพจิตโลก 2023 เป็น สุขภาพจิตเป็นสิทธิมนุษยชนสากล "Mental Health Anywhere เพื่อนแท้ มีทุกที่" มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า 1 ใน 8 คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพโดยรวมและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย รายงานจากคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 คนในปี 2564 เป็น 1,240,729 คนในปี 2566 

การช่วยเหลือด้วยหลัก 3 ส

1.สอดส่องมองหา โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช

2.ใส่ใจรับฟังอย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ

3.ส่งต่อเชื่อมโยง โดยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็น หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เครียดรุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ป้องกัน ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข