เช็คอาการ "ไข้หวัดใหญ่" สายพันธุ์ A, B กลุ่มเสี่ยง วิธีการป้องกันโรค 

16 ต.ค. 2566 | 02:15 น.

ดูชัด ๆ อาการ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A" และ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B" หลังมีการแชร์ข่าวปลอมผ่านโซเชียลมีเดียก่อนตกเป็นเหยื่อพร้อมคำแนะนำการป้องกันโรคสามารถทำได้ด้วยตัวเองสำหรับกลุ่มเสี่ยงทุกคน

จากกรณีมีการแชร์ข่าวปลอมผ่านทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับอาการของ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A" ว่า จะมีอาการปวดหัว อาเจียน และฉี่แตกเฉียบพลันอย่างรุนแรง ทั้งยังมีความรุนแรงมากกว่า โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ซึ่งสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนในช่วงนี้อย่างมากเพราะเป็นช่วงที่ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศด้วย 

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทบทวนอาการของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กันอีกครั้งว่า เป็นอย่างไร ที่สำคัญเราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ 

ไข้หวัดใหญ่ คือ อะไร

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจาก "เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่" ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอ จาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในสังคมปัจจุบันมากที่สุด มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่

1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ รวมทั้งยังแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2

2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria, B Yamagata, B Phuket ซึ่งสามารถระบาดได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวเช่นเดียวกัน แต่อาการไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

อาการไข้หวัดใหญ่

มักจะมีอาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป แต่มีความรุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาฯ ขึ้นไป
  • มีอาการปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก
  • เจ็บคอ มีอาการไอ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
  • ในเด็กเล็กมีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง

ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย

กลุ่มเสี่ยง 

  • หญิงมีครรภ์
  • เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  • บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

กลุ่มที่ต้องระวังการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ

กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา และทำให้เกิดความรุนแรงสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ "ปอดอักเสบ" ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)

วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  • ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
  • ควรปิดปาก จมูก ด้วยหน้ากากอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง