ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health) เปิดเผยว่า วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล เพื่อรองรับตำแหน่งงานสำคัญในอนาคต
ทั้งนี้ คาดว่าณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถต่อยอดทางวิชาชีพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักวิจัย อาจารย์ด้านสุขภาพดิจิทัล นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ รวมถึงผู้ดูแลความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรด้านสุขภาพ
"เป็นที่ทราบกันดีว่า Digital Transformation ในระบบบริการสุขภาพ จะทำให้มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข อาทิเช่น การนำระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในการจัดการข้อมูลเชิงเวชสารสนเทศ (Medical Informatics)"
อย่างไรก็ดี สิ่งใหม่ดังกล่าวเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ทั้งการปรับปรุงการวินิจฉัยทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น การรักษาโดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การนำข้อมูลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการติดตามข้อมูลเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัลเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ หลักสูตรยังมุ่งเน้นความรู้และทักษะด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึงและยั่งยืนสำหรับทุกคน
แพทย์หญิงสุประวีณ์ รุ่งพิทยานนท์ รังสีแพทย์ จังหวัดอุดรธานี และมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวว่า การเรียนสาขาดังกล่าวมาจากปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไวมาก ทำให้รังสีแพทย์ได้มีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาวินิจฉัยให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยมองว่าหากแพทย์มีความรู้ทางด้านนี้มากขึ้นก็จะสามารถปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เมื่อเรียนจบแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health) เป็นหลักสูตร 2 ปี ระดับปริญญาโท โดยจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย รับทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
ด้านคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตร เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะที่มีอำนาจตามกฎหมายรับรอง ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาศาสตร์ชีวสถิติ วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิเช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน และจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกตามเกณฑ์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์