ตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในไทยส่วนใหญ่มีความซับซ้อนทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่สูงนัก เป็นการผลิตอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานซึ่งเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ยางและพลาสติก และมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 70% สามารถจำแนกประเภทตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้ ดังนี้
1. กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ จำนวนผู้ประกอบการมีสัดส่วน 43% ของผู้ประกอบการทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2562 โดยผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพการผลิตสูงและแข่งขันได้ดีในตลาดโลกคือ ถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตยางพารา (วัตถุดิบหลักในการผลิต) รายใหญ่ของโลก
ทั้งยังใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน ถุงมือยางที่ผลิตได้จึงเน้นตลาดส่งออกเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของปริมาณการจำหน่ายทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการผลิตรองลงมาคือ หลอดสวนและหลอดฉีดยา ซึ่งใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต
2. กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ผู้ประกอบการมีสัดส่วน 28% ของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นครุภัณฑ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ และรถเข็นผู้ป่วย
3. กลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค มีจำนวนผู้ประกอบการเพียง 6% ของผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน โรคไต และโรคตับอักเสบ ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าจากปี 2558
จากข้อมูล ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรียังคาดการณ์ว่าในปี 2566 ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากอัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ,จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์
นายวรุตม์ สุทธินันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอสล่า จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ด้านความงามและเวชสำอางระดับโลก เปิดเผยว่า กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์
รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมีปัจจัยท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญคือ การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการไทยที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือการผลิตจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย
ทั้งนี้ตลาดนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในประเทศไทยที่แม้ยังเติบโตได้ต่อเนื่องโดยปี2565 มีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท เติบโต 15% โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยังนำเครื่องมือจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย
“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ นั่นก็คือ บุคลากรการแพทย์ที่มีความสามารถ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในต่างประเทศ และมีการเดินทางเข้ามาใช้บริการเสริมความงามจำนวนมาก โดยเฉพาะในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม
ทำให้ปีนี้บริษัทจึงเน้นให้ความสำคัญกับการอบรม ถ่ายทอดความรู้และอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีต่างๆ พร้อมกับสาธิตการใช้งานเครื่องมือการแพทย์ด้านความงามให้กับทีมแพทย์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนวงการความงามของประเทศไทยให้เท่าทันกับมาตรฐานสากลหลังจากได้นำเข้าเครื่อง Potenza นวัตกรรม 4-Mode RF Microneedling เพื่อการฟื้นฟูผิวจากแบรนด์ Cynosure เครื่องแรกของโลกเข้ามาจำหน่ายในไทย
ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับบรรดาแพทย์ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมากเพราะถือเป็นการเรียนรู้การถ่ายทอดประสบการณ์ตรงกับอาจารย์ ผู้เป็นต้นแบบด้านการใช้วิทยาการและเทคโนโลยีด้านความงามชั้นแนวหน้าของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด”