จับตา โอมิครอน JN.1 กำลังระบาดเพิ่มขึ้นในยุโรป-อเมริกาเหนือ

20 พ.ย. 2566 | 08:40 น.

นักวิจัยจีน เผย โอมิครอน BA.2.86 วิวัฒนาการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นโอมิครอน JN.1 เพื่อหลบหนีภูมิคุ้มกันระหว่างแพร่เชื้อแลกกับคุณสมบัติในการจับกับผิวเซลล์ที่ลดลง ล่าสุดพบ โอมิครอน JN.1 ระบาดเพิ่มขึ้นในยุโรป-อเมริกาเหนือ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ค Center for Medical Genomics เกี่ยวกับงานวิจัยของ ดร.โจ หยุนหลง (Cao Yunlong) หรือที่รู้จักในชื่อ ริชาร์ด เฉา (Richard Cao) นักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมบุกเบิกทางชีวการแพทย์ (BIOPIC) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งซึ่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 คนที่มีส่วนช่วยกำหนดทิศทางวิทยาศาสตร์ในปี 2022 ของวารสารเนเจอร์ (nature) และทีมวิจัย พบว่า ภายใต้แรงกัดดันทางภูมิคุ้มกันอย่างหนัก โอมิครอน BA.2.86 กำลังวิวัฒนากลายพันธุ์ไปเป็นโอมิครอนรุ่นลูก JN.1 เพื่อปรับให้ประสิทธิภาพการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันดีขึ้น

เน้นการกลายพันธุ์ในส่วนหนามที่ช่วยเพิ่มการหลบหนีของภูมิคุ้มกันระหว่างการแพร่เชื้อซึ่งแลกมาด้วยคุณสมบัติของความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ที่ลดลง ซึ่งขณะนี้พบ JN.1 ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศส

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ดร.โจ หยุนหลง (Cao Yunlong) หรือที่รู้จักในชื่อ ริชาร์ด เฉา (Richard Cao) นักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมบุกเบิกทางชีวการแพทย์ (BIOPIC) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และทีมวิจัย ได้ทำการทดลองแสดงให้เห็นว่า

โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.86 มีการกลายพันธุ์โดยเฉพาะบริเวณหนามที่ใช้ยึดเกาะกับเซลล์ไปอย่างมากกว่า 30 ตำแหน่ง (major change) เมื่อเทียบกับโอมิครอน XBB.1.5  ทำให้จับกับผิวเซลล์บริเวณ "ACE2" ได้ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ส่วนหนามในลักษณะนี้ส่งผลเสียกับไวรัสในด้านการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มลดลง(การเข้าจับของแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นกับส่วนหนามเพื่อทำลายไวรัส) เมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนหน้า XBB.1.5

ภายใต้แรงกดดันทางภูมิคุ้มกันอย่างหนัก ทำให้ BA.2.86 ต้องมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ JN.1 (BA.2.86.1.1) ซึ่งมีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำแหน่ง L455S เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2.86 เพื่อปรับให้ประสิทธิภาพการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งขณะนี้พบ JN.1 ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส

การกลายพันธุ์ L455S ของ JN.1 ช่วยเพิ่มความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะสูญเสียความสามารถในการจับกับผิวเซลล์บริเวณ ACE2 ลงบ้าง ทำให้สามารถเอาชนะโอมิครอน BA.2.86 รุ่นพ่อแม่และโอมิครอนสายพันธุ์หลักอย่าง HV.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน XBB.1.5 ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (XBB.1.5+L452R+F456L) และโอมิครอน JD.1.1 ลูกหลานของโอมิครอน XBB.1.5 ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว ร่วมกับการกลายพันธุ์ที่ A475V อีกหนึ่งตำแหน่ง (XBB.1.5+L455F+F456L+A475V) ในแง่ของการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วิวัฒนาการกลายพันธุ์โดยเฉพาะส่วนหนามอย่างรวดเร็วจากโอมิครอน BA.2.86 ไปเป็นโอมิครอน JN.1 คล้ายคลึงกับการเปลี่ยนผ่านก่อนหน้านี้จากโอมิครอน BA.2.75 ไปเป็นโอมิครอน CH.1.1 ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีต้องถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมเพื่อติดตามสายพันธุ์ของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการเข้าจับกับผิวเซลล์

สรุปได้ว่า โควิด-19 จะเน้นการกลายพันธุ์ในส่วนหนามที่ช่วยเพิ่มการหลบหนีของภูมิคุ้มกันในระหว่างการแพร่เชื้อ ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยคุณสมบัติของความสามารถในการจับกับผิวเซลล์ที่ลดลง