ในตำรับยาแผนโบราณมีธาตุวัตถุที่เป็นอันตรายซึ่งหากรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายจะทำให้เกิดพิษจากธาตุวัตถุเหล่านี้ได้ โดยล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ลงนามโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ประกาศห้ามใช้ "ฝุ่นจีน" และ "เสน" เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2566
"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับ ฝุ่นจีน และ เสน กันให้มากขึ้น
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Basic lead carbonate [2PbCo3.Pb(OH)2] และ/หรือ สารประกอบอื่นของตะกั่ว
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (Pb3O4) เป็นสารประกอบของตะกั่วที่มีสีแดงสว่างหรือสีส้ม สูตรทางเคมีเป็น Pb3O4 หรือ 2 PbO·PbO2 เป็นผงละเอียดสีแดง ใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและสีทา เคยใช้ลงพื้นเหล็กเพื่อกันสนิม
พิษของสารประกอบตะกั่ว
สารประกอบอนินทรีย์ต่าง ๆ ของตะกั่วจะทำให้เกิดพิษคล้ายกันเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว อัตราการดูดซึมตะกั่วในเด็กจะสูงกว่าผู้ใหญ่มาก การสะสมของสารตะกั่วส่วนมากจะเกิดขึ้นที่กระดูก เมื่อได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานระบบใหญ่ ๆ ในร่างกาย 4 ระบบจะเกิดพิษขึ้น ได้แก่
พิษที่เกิดในแต่ละระบบ มีดังนี้
1.ระบบประสาทส่วนกลาง
สมองถูกทำลาย ทำให้มีอาการคิดอะไรไม่ออก จำอะไรไม่ได้ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ถูกกระตุ้นระบบประสาทได้ง่าย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อสั่น อาจชัก หมดสติและตายได้ ตะกั่วในขนาดที่ต่ำกว่าจะทำลายสมองได้ หากเด็กได้รับจะทำให้มีผลต่อพฤติกรรมต่างๆ
2.ระบบประสาทส่วนปลาย
ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสำหรับเหยียดอวัยวะของร่างกาย มีความรู้สึกไวผิดปกติ และรู้สึกปวด
3.ระบบไต
จะเกิดพิษต่อเซลล์ต่างๆ ของไต เมื่อได้รับสารตะกั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน
4.ระบบการสร้างเม็ดเลือด
ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงสั้นลง และการสร้างฮีโมโกลบินถูกยับยั้ง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
ขอบคุณข้อมูล Healthcarethai.com, วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี