ฉีดวัคซีน HPV ตอนไหนให้ได้ผลดีที่สุด ที่นี่มีคำตอบ

30 พ.ย. 2566 | 20:15 น.

ไขข้อข้องใจฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้ได้ผลดีที่สุด ผู้หญิงต้องฉีดตอนไหน ผู้ชายสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่ ต้องฉีดกี่เข็มจึงจะเกิดประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ได้

ในแต่ละปีจะพบผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกจำนวนไม่น้อย จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ในวันมะเร็งโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า สถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยจัดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80,000 คนต่อปี

โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
  • มะเร็งปากมดลูก

สำหรับ มะเร็งปากมดลูก นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี และการตรวจทางเซลล์วิทยาสามารถตรวจรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง รักษาและป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งได้

รวมถึงการฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส  HPV Human Papilloma Virus อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ 

การฉีดวัคซีน HPV ให้ได้ผลดีที่สุด 

1.ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน 

  • ประสิทธิภาพวัคซีนสูง หากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน

2.ฉีดในวัยที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี 

  • จากงานวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กผู้หญิงสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ดีในช่วง 9-15 ปี ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง

3.ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี 

  • ควรฉีดวัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12ปี

4.เด็กผู้ชายอายุ 9-26 ปี 

  • สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก เน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี

ไทม์ไลน์การฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีดให้ครบ 3 ครั้ง

เมื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว ตามด้วยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 1-2 เดือน และวัคซีนเข็ม 3  หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน

ข้อควรรู้

1.วัคซีน HPV มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ HPV เฉพาะสายพันธุ์ที่ทำวัคซีนเท่านั้น ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ อาจป้องกันได้บ้าง

2.ผลในการป้องกันการติดเชื้อจะได้ผลเต็มที่ต่อเมื่อยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน

3.ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องการการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์

ข้อมูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต