ผลกระทบโลกร้อนทำ “ไข้เลือดออก” ระบาดหนักขึ้น ทุบสถิติทั่วโลก

17 ธ.ค. 2566 | 23:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 01:47 น.

รายงานเผย "โรคไข้เลือดออก" กำลังระบาดหนักในซีกโลกตะวันตก ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมีจำนวนพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

ผู้เชี่ยวชาญของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภาคพื้นอเมริกาเตือนว่า ภาวะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และการขยายตัวของชุมชนเมืองกำลังเป็นสาเหตุทำให้จำนวน ผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมากกว่า 4 ล้านรายใน แถบอเมริกาและแคริบเบียน ในปีนี้ และ ทำลายสถิติสูงสุดเดิม ที่ทำไว้เมื่อปี 2019 ขณะที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย

แพทย์หญิงเกเบรียลลา พาส-เบลีย์ หัวหน้ากองควบคุมโรคไข้เลือดออกของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา สาขาเมืองเปอโตริโก เปิดเผยว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยเอื้อต่อการขยายถิ่นที่อยู่ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ต้นเหตุของไข้เลือดออก อีกทั้งยังช่วยให้เชื้อไวรัสพัฒนาได้เร็วขึ้นในตัวของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค ปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้นในตัวยุงทำให้ความเป็นไปได้ในการแพร่กระจายเชื้อจากยุงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ดร.เจอเรมี ฟาร์เรอร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกในขณะนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมและรับมือได้ยากขึ้นเนื่องจากปัญหาโลกร้อนเป็นวาระระดับโลกที่ยากจะแก้ไข ขณะเดียวกันการขยายตัวของชุมชนเมืองก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สถานการณ์แพร่ระบาดของไข้เลือดออกในบังกลาเทศปีนี้ยังคงน่าเป็นห่วง มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าพันคน

หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่พุ่งสูงขึ้น เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นอุณหภูมิที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ฤดูกาลต่างๆกินเวลายาวนานมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งอดีต และการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่ขยายพื้นที่ไปทางเหนือและใต้มากกว่าที่เคยเป็นมา ยกตัวอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย มีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในพื้นที่สองรายแรกของปีนี้ ขณะที่ฟลอริดามี 138 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของรัฐ และเพิ่มจากเพียง 65 รายในปีที่ผ่านมา

เป็นที่สังเกตว่า ประเทศในซีกโลกเหนือต้องเผชิญกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมากที่สุดในปีนี้ โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่อากาศร้อนกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเมื่อหลายสิบปีที่แล้วราว 1.5 องศาเซลเซียส และนับจากต้นปีมาจนถึงขณะนี้กล่าวได้ว่า ปี 2023 คือปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ที่เคยมีการบันทึกโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกจำนวนมากกว่า 4.5 ล้านรายในช่วงต้นเดือนพ.ย.ปีนี้ และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 4,000 รายใน 80 ประเทศ ขณะที่มีการคาดการณ์โดย WHO ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในปีนี้ จะพุ่งแซงสถิติ 5.2 ล้านรายที่ทำไว้ในปี 2019 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ขณะที่ประเทศในโลกตะวันตกเช่นในภูมิภาคอเมริกามองว่า การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและจับตาติดตามสถานการณ์ แต่ขณะเดียวกัน ในหลายประเทศเขตร้อน เช่นบังคลาเทศ สถานการณ์ไข้เลือดออกถือว่าหนักหน่วงจนน่าวิตก โดยเฉพาะปีนี้ บังกลาเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงกว่า 2 แสนคน และเสียชีวิตสะสมอีกกว่า 1,100 คนแล้ว ทำให้ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์

ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นับเป็นตัวแปรสำคัญ โดยบังกลาเทศปีนี้ ต้องเผชิญกับฤดูฝนที่มาเร็วกว่าปกติ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดและมีความชื้นสูง ทำให้ยุงเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเนื่องจากประชากรบังกลาเทศส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่นอกบ้าน ประกอบกับลักษณะที่พักอาศัยเป็นแบบเปิดโล่ง ง่ายต่อการที่ยุงจะเข้าไป จึงทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับการรับมือนั้น WHO แนะนำ การฉีดวัคซีนคิวเดงกา (Qdenga) ผลิตโดยบริษัทในประเทศเยอรมนี เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นฤทธิ์อ่อน สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดความรุนแรงของโรคได้ราว 90.4% สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน

ข้อมูลอ้างอิง