บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC หนุนโรงพยาบาลพิษณุเวช จับมือ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งต่อผู้รับบริการเพื่อรับการตรวจสวนหัวใจในการขยายหลอดเลือดหัวใจ ด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด
นายแพทย์สมคิด อุดมกิจมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิษณุเวช กล่าวว่า โรงพยาบาลพิษณุเวชมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคยากซับซ้อน โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งการให้บริการห้องปฏิบัติการตรวจหัวใจ และการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab) ถือเป็นการรักษาโรคหัวใจขั้นสูงที่ต้องใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ความร่วมมือในครั้งนี้กับจะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลพิษณุเวชในการรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจในเขตภาคเหนือมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคหัวใจในเขตภาคเหนือที่มีความจำเป็นในการรักษาด้วยห้องปฏิบัติการตรวจหัวใจ และการฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ จะสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพิษณุเวชได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพให้กับผู้ป่วยในเขตภาคเหนือ
นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาโรคหัวใจในเขตภาคเหนือให้สูงขึ้น อีกทั้งโรงพยาบาลพิษณุเวช ยังมีศูนย์การรักษาโรคแบบครบองค์รวม ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์มะเร็งพิษณุเวชฮอไรซัน ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ฯลฯ
ซึ่งตลอด 41 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราได้ร่วมดูแลผู้รับบริการในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง โดยตั้งเป้าให้เป็นการแพทย์อันดับ 1 ในพื้นที่ภาคเหนือ ในการดูแลคนไข้ครบองค์รวม (Advanced Patient Care) และพร้อมแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐ ร่วมกับรพ.ตากสินฯ ซึ่งจะเริ่มบริการส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป นพ.สมคิดกล่าว
ขณะที่ นพ.บรรเจิด นนทสูติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า เรามองเห็นโอกาสและศักยภาพของรพ.พิษณุเวช ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มีความพร้อม ทั้งในด้านบุคลากรการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือ
การขยายความร่วมมือในครั้งนี้ มีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้รับบริการเป็นหลัก เพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วทันท่วงที ลดความแออัด ลดอัตราความสูญเสีย และยังช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณสุขในระยะยาวลงได้อีกด้วย