มนุษย์เงินเดือนต้องระวัง นั่งนานเสี่ยง “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น”

01 มี.ค. 2567 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2567 | 10:18 น.

รพ. เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟเตือนภัยมนุษย์เงินเดือน ยกของหนัก นั่งนาน ก้มหน้าเล่นมือถือ เสี่ยงป่วยเป็น “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น” จี้พบแพทย์วินิจฉัยให้ตรงจุด หากรักษาช้าเสี่ยงพิการได้

นพ.ณฐพล ลิตติรานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า ในกลุ่มคนวัยทำงานหรือกลุ่มคนที่มีอายุน้อยเริ่มเป็นโรค "หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น" มากขึ้น เพราะผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ยกของหนัก ,นั่งนาน ,ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ หรือก้มตัวยกของ

มนุษย์เงินเดือนต้องระวัง นั่งนานเสี่ยง “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น”

ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดอายุ 24 ปี ที่เคยเข้ารับการรักษาที่ รพ.เอส สไปน์ รพ.เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยรายนี้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ มีพฤติกรรมนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน บางครั้ง 3 - 4 ชั่วโมงติดต่อกัน เข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะโพกร้าวลงต้นขา มีประวัติการรักษามาจากที่อื่น เคยทานยาและทำกายภาพมาก่อนและอาการดีขึ้นบางส่วน แต่เมื่อหยุดยา หยุดทำกายภาพอาการปวดก็กลับมา กระทั่งไม่สามารถเดินและนอนได้ เบื้องต้นได้ส่ง X-ray ร่วมกับการทำ MRI ผลการตรวจยืนยันว่าพบหมอนรองกระดูกเคลื่อน จึงได้วางแนวทางการรักษาด้วยการเจาะรูส่องกล้องเพื่อนำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออก

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก สามารถลุกขึ้นเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังการผ่าตัด พร้อมเปิดใจว่าอาการปวดเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ประมาณช่วงมหาวิทยาลัย เมื่อปวดหลังก็กินยาแล้วนอนพัก ทำแบบนี้จนกระทั่งล่าสุดมีอาการปวดหลังร้าวลงขาไปถึงบริเวณหัวเข่าจนขยับไม่ได้ เมื่อได้เข้ามารักษาแล้ว ปัจจุบันก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นพ.ณฐพล กล่าวว่า จากประสบการณ์การรักษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป มีอาการปวดหลังร้าวลงขา ชาและอ่อนแรงร่วมด้วย หากเปรียบเทียบกับในช่วงปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงวัยยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่ในทางกลับกันกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงกลับมีอาการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น 

มนุษย์เงินเดือนต้องระวัง นั่งนานเสี่ยง “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น”

สำหรับอาการหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้ง 2 ข้อ ปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดคอหรือหลัง หากมีการกดทับมากอาจเสี่ยงต่อความพิการได้ 

ส่วนอาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดคอ ปวดหลังส่วนล่าง ปวดบริเวณก้น หรือสะโพกร้าวลงขา (บริเวณเส้นประสาทไซแอ็ททิค Sciatic nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายของมนุษย์)  ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา หรือเสียวเหมือนไฟช็อต ร้าวลงขา หรือแขน ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้ขณะก้มยกของหรือทรงตัวมีปัญหา หากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงระบบขับถ่ายมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและหากรับประทานยาแก้ปวดนานเกิน 1 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจ X-ray และ MRI เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งการรักษาอาการปวดจากภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน จะเริ่มจากการฉีดยาระงับการอักเสบที่บริเวณโพรงเส้นประสาทไขสันหลัง หากหมอนรองกระดูกเริ่มปูดนูน หรือปลิ้นออกมาไม่มาก แพทย์อาจจะพิจารณาทำการรักษาด้วยการจี้เลเซอร์ในบริเวณที่มีปัญหา

มนุษย์เงินเดือนต้องระวัง นั่งนานเสี่ยง “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น”

แต่เมื่อใดก็ตามที่หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น หรือเคลื่อนกดทับเส้นประสาทในปริมาณที่มาก แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป หรือการเจาะรูส่องกล้อง ด้วยเทคนิค PSLD (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression) ที่บริเวณส่วนหลัง หรือ เทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) ที่บริเวณส่วนคอ โดยเน้นการรักษาโรคที่ต้นเหตุ ให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติเร็วที่สุด