KEY
POINTS
นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) (MASTER) ผู้บริหาร “โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2567 กลุ่มบริษัท มาสเตอร์สไตล์ มีเป้าหมายที่จะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2566 ที่มีรายได้ 1,943 ล้านบาท กำไร 416 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2565 ที่รายได้ 1,490 ล้านบาท กำไร 300 ล้านบาท ถือว่าเติบโตในทุกหัตถการและยังเพิ่มการใช้ห้องผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี
โดยสัดส่วนการให้บริการตอนนี้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยมากกว่า 60% เข้าถึงลูกค้าในตลาดศัลยกรรมและความงามมากกว่า 90% ด้วยจุดเด่นใน 3 ส่วน คือ 1. ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้าน 2.การพัฒนาระบบ และ 3.สเกลการทำงาน ลักษณะการบริหารงานครอบคลุมลูกค้าทุกระดับตั้งแต่ระดับแมสจนถึงระดับไฮเอนด์ โดยทุกบริษัทมีทีมบริหารแยกกันอย่างชัดเจนและมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มต่างกัน
ในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทมาสเตอร์ สไตล์มีการเติบโตสวนทางทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยมุ่งเน้นเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง และมีเป้าหมายคงความเป็นเบอร์หนึ่งของโรงพยาบาลเฉพาะทางในประเทศไทย ทั้งนี้บริษัทมีความร่วมมือกับ 14 บริษัทในเครือ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมความงามที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำ ยกตัวอย่าง กลุ่ม V Square Clinic ทั้งหมด 25 สาขา ทั่วทั้งประเทศ ที่เป็นเบอร์ 1 ของการใช้ยาฉีดด้านความงาม, Me Center คลินิกทางด้านจิตเวช, กรวิน & รณภีร์ คลินิก 46 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ
“ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว เรียกได้ว่าผ่านช่วงอันตราย จากมีพนักงานหลัก 10 คน กลายมาเป็นหลัก 1,000 คน และมีแพทย์ประจำ 131 คน เปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องคนและโครงสร้าง กระทั่งสามารถดึงคนเก่งมาร่วมกันทำงานได้ทั้ง 14 CEO ในเครือบริษัทเดียวกัน โดยจะมุ่งสนับสนุนเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านเฉพาะทาง คงความเป็นเบอร์ 1 ในด้านการศัลยกรรม พร้อมเป็นผู้นำกลุ่มโรงพยาบาลเฉพาะทางในแต่ละสาขา”
นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนลงทุนของกลุ่ม บริษัทมาสเตอร์ สไตล์ จะดูทิศทางในประเทศไทยว่ามีความมั่นคง สามารถดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาให้ได้ก่อน ถึงจะเริ่มเปิดแผนลงทุนต่างประเทศต่อไป เพราะตั้งใจไว้ว่าจะรอดูสถานการณ์ 3-4 ปี หรืออาจขยับเร็วกว่านั้น จนกว่าจะมีแบบแผนจากประเทศไทยไปวางยังต่างประเทศได้จริงและไม่มีอุปสรรค์ในเรื่องภาษา เพราะหลายพื้นที่ประสบปัญหาคล้ายกันคือการบริหารจัดการแพทย์และบริหารจัดการระบบที่ไม่ต่างกันมากนัก โดยปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าคนไทยเฉลี่ยประมาณ 70% ลูกค้าต่างประเทศ 30% โดยมาจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สิงคโปร์ มาเลเซีย ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้สัดส่วนลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ถึง 50% ในอนาคต
“การแข่งขันในตลาดศัลยกรรม อาจมีหลายโรงพยาบาลใหญ่ที่กระโดดเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก แต่การศัลยกรรมยังเป็นตลาดเฉพาะ โรงพยาบาลที่ไม่ได้โฟกัสเฉพาะเจาะจงในด้านนี้จะแข่งขันได้ยาก และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง ฉะนั้นกลุ่มมาสเตอร์ สไตล์จึงไม่กังวลหากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มเปิดแผนกศัลยกรรมมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเทรนด์กลุ่มโรงพยาบาลเฉพาะทางจะมาแรง การเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าที่ทำได้ง่ายขึ้นในยุคนี้ สามารถทำให้ผู้คนเลือกเฉาะจงด้วยตัวเองได้ เช่น หากปวดหลังก็เลือกไปโรงพยาบาลข้อและกระดูก โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลรักษาทั่วไป
นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการขยายธุรกิจของบริษัทจะเน้นการเติบโตทั้ง Organic และ Inorganic ด้วยกลยุทธ์แบบ Merger and Partnership (M&P) วางหลักเกณฑ์เรื่องการเข้าไปลงทุนกับพาร์ทเนอร์แบบซื้อกิจการหรือซื้อธุรกิจ ที่เจ้าของเดิมยังบริหารอยู่และให้บริหารต่อเพื่อเติบโตไปด้วยกัน รวมทั้งกิจการหรือธุรกิจท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพื้นที่นั้นๆ ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน (Synergy) ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช โดยเชื่อมั่นว่าทุกข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้านความร่วมมือกับบริษัทในเครือทั้ง 14 บริษัท ล่าสุดมีการประกาศแผนแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ 1.กรวิน + รณภีร์ : Cross selling หัตถการเด่นด้านซิลิโคน 2. เอธิลิส โค้ด โรงงานผลิต ซิลิโคนเกรด Premium : Cross synergy เป็น Supply chain ต้นน้ำในธุรกิจศัลยกรรมต่างๆ 3.AURORA Clinic : Cross Border synergy กับคุณหมอศัลยกรรมพลาสติกที่จะขยายฐานลูกค้าต่างชาติ ในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและเกาะสมุย เพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่ม Medical Tourism มากขึ้น และ 4. ME CENTER : Cross selling ธุรกิจเฉพาะทางด้านจิตเวช ที่จะขยายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชในอนาคต
ยกตัวอย่างการเข้าไปลงทุนในบริษัท เอสธิลิส โค้ด จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิตซิลิโคนเพื่อใช้สำหรับทางการแพทย์ จำนวน 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด, ลงทุนในบริษัท มี เซนเตอร์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการคลินิกดูแลสุขภาพจิต ภายใต้ชื่อ Me Center Clinic ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีความชำนาญด้านดูแลช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาด้านปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นต้น
ทั้ง 4 บริษัทข้างต้นนั้น บริษัทจะใช้เงินที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจการเข้าลงทุน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินงานของบริษัท และจะเป็นประโยชน์ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว