*** ดูเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมาจะมีบริษัทที่ทำธุรกิจเสริมความงามตบเท้าเข้าระดมทุนหลายบริษัท เริ่มจาก KLINIQ (บมจ. เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม) ที่เข้าตลาดไปเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2565 ด้วยราคาจองซื้อ 24.50 บาท คิดเป็น P/E ที่ 23.12 เท่า ซึ่งจนถึงวันนี้ KLINIQ เข้าตลาดมาเกือบปี พบว่า แม้ราคาหุ้นจะสามารถยืนอยู่ในแดนบวกแต่ค่า P/E ก็ปรับสูงขึ้นเป็น 33 เท่าเข้าไปแล้ว
ส่วนหุ้นเสริมความงามตัวต่อมาก็คือ บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ หรือ MASTER ซึ่งเข้าตลาดไปเมื่อปลายเดือนมกราคมปีนี้ ด้วยราคาจองซื้อ 46 บาท ที่ค่า P/E คิดเป็น 36.85 เท่า
ขณะที่ บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP ซึ่งจะขายหุ้นไอพีโอจำนวน 90 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 14 บาท คิดเป็นค่า P/E เท่ากับ 21.12 เท่า ก็กำลังจะเข้าตลาดในวันที่ 24 ต.ค.ที่กำลังจะถึง
อย่างไรก็ตาม หากจับเอาทั้ง 3 บริษัทมาเปรียบเทียบกัน ก็จะพบว่า ราคาหุ้นของ KLINIQ ยังคงสามารถยืนอยู่ในแดนบวก ขณะที่ทาง TRP นั่นยังไม่เข้าตลาดฯ จะมีก็เพียงทางด้านของ MASTER เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่พอจะมีสตอรี่ให้เจ๊เมาธ์จับเอามาพูดถึง
โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างตัวตนและการสร้างข้อได้เปรียบให้กับตัวเองของบริษัทแห่งนี้
เรื่องแรกดูเหมือนว่า MASTER เป็น บริษัทเสริมความงาม ที่เริ่มนับหนึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยความ “กล้า” ที่จะ “ทุ่มเม็ดเงินมหาศาล” ในการซื้อทั้งสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) จนมีข่าวของ MASTER กระจายว่อนอยู่ในทุกหน้าสื่อ ก่อนที่จะเปิดราคาจองซื้อหุ้นไอพีโอด้วยค่า P/E ที่สูงกว่าหุ้นตัวอื่นในธุรกิจเดียวกันเกือบ 50% และด้วยการระดมทุนที่สูงเกือบ 3 พันล้านบาท ทั้งที่ตัวบริษัทเองก็ไม่ได้มีข้อดี...หรือแตกต่างออกไปจากบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน แต่การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลที่ว่านี้ ก็ทำให้ MASTER ไม่ต้องกลัว หรือ กังวลว่าใครจะมาตั้งคำถามเรื่อง “การตั้งราคาหุ้น” ว่ามีราคาที่ถูกหรือแพงแค่ไหน
เรื่องที่สองก็เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นหลักของ MASTER ที่มีทั้งผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงนักลงทุนที่มีชื่อเสียง ซึ่งเจ๊เมาธ์บอกได้เลยว่าแต่ละคนมีชื่อเสียง ชื่อชั้น และ โปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บริษัทแห่งนี้ กล้าที่จะตั้งราคาหุ้นเอาไว้สูงมาก
เริ่มจากผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร อย่าง นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล หรือ “หมอเส” ซึ่งถือหุ้นอยู่ 49.22% ตามมาด้วย
1. นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี จาก COM7 ถือหุ้นสัดส่วน 5.21%
2. นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ จาก CHAYO ถือหุ้นสัดส่วน 2.16%
3. นางสาวภาสิตา ลี้สกุล “ภรรยา” ของ “หมอเส” ถือหุ้นสัดส่วน 2.08%
4. นายสุระ คณิตทวีกุล จาก COM7 ถือหุ้นสัดส่วน 1.99%
5. นายปรีชา ส่งวัฒนา จาก FN ถือหุ้นสัดส่วน 1.86%
6. นายวีรชัย มั่นสินธร จาก TIPAK ถือหุ้นสัดส่วน 1.86%
7. ไพบูลย์ เสรีวัฒนา หนึ่งในนักลงทุนรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง ถือหุ้นสัดส่วน 1.32%
8. มณเฑียร อินทร์น้อย ถือหุ้นสัดส่วน 1.24%
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของ นางสาวภาสิตา ลี้สกุล ซึ่งนอกจากจะเป็น “ภรรยา” ของ “หมอเส” ก็ยังเป็นกรรมการของ บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น หรือ TRC และเป็นลูกสาวของ สมัย ลี้สกุล ผู้ก่อตั้ง TRC ซึ่งนั่นก็หมายความว่า นอกจากจะมีบรรดาผู้ถือหุ้นที่มีทั้งผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงนักลงทุนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น ก็ยังพบว่า MASTER มีบริษัทใหญ่อย่าง TRC ทำหน้าที่เป็นแบ็คอยู่เบื้องหลังด้วยนั่นเอง
เมื่อจบเรื่องของข้อดี หรือ ข้อได้เปรียบไปแล้ว...คราวนี้มาที่เรื่องโอกาสและอนาคตของธุรกิจเสริมความงามกันบ้าง
ปัญหาแรกของธุรกิจเสริมความงามเป็นปัญหาเรื่องแข่งขันของตลาด ที่มีผู้เล่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อมีผู้เล่นมากขึ้น จะส่งผลให้มีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งทางด้านราคา และการแข่งขัน ทั้งนวัตกรรมความงามที่ทำให้แต่ละโรงพยาบาล หรือ แต่ละคลินิก ต่างก็มีความสามารถในการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ก็ทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะเบนเข็มไปหาผู้ให้บริการรายเล็กที่เสนอราคาถูก มากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับผู้ให้บริการที่วางตัวในตลาดบน อย่างเช่น MASTER
ปัญหาอย่างที่สองเป็นเรื่องราคาหุ้นของ MASTER ซึ่งเคยถูกดันขึ้นไปสูงถึงเกือบเท่าตัว (83.18 บาท) จากราคาจองซื้อ 46.00 บาท ก่อนที่ล่าสุดราคาจะร่วงลงไปหลุดลงต่ำกว่าราคาจอง (44.00 บาท) ซึ่งแม้ว่าในที่สุดราคาหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นมายืนเหนือราคาจองได้อีกครั้งก็ตาม แต่ลักษณะการเคลื่อนตัวของราคาหุ้นของ MASTER ในแบบนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับราคาหุ้นของ JMART ในวันที่เรียกกันว่า “Corner แตก” อย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาของการลากราคาขึ้นไปจนถึงเป้า ด้วยการใช้ข้อมูลทั้งภาพลักษณ์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมไปถึงผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์ และผ่านความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้น
พอราคาถึงจุดที่ตั้งเป้าไว้ก็จะเทขายอย่างแรง ทุบราคาร่วงกระจาย ตามที่เจ๊เมาธ์ได้พูดถึงไปแล้วในเรื่องการสร้างข้อได้เปรียบของ MASTER ในช่วงแรก
ท้ายที่สุดก็มาถึงคำถามที่ว่า หุ้นธุรกิจเสริมความงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหุ้นอย่าง MASTER ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่…
คำตอบของเจ๊เมาธ์ก็มีอยู่แล้วว่า เมื่อเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นเป็นจำนวนมากและไม่จำกัดว่าใครจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้บ้าง อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า Barrier to Entry (การที่ไม่มีกำแพงที่จะป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาทำธุรกิจแข่งกับบริษัทที่อยู่ในตลาดมาก่อน) และเมื่อใครก็เข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ มันก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจนี้ขาดเสน่ห์
อย่าลืมว่า “ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุน” และเมื่อธุรกิจไม่มีเสน่ห์ ก็ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และไม่สนใจหุ้นในธุรกิจนี้ตามไปด้วย เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้หละเจ้าค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,933 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566