หลังจากใช้เวลารักษาตัวอยู่นานกว่า 5 ปีจาก โรคตุ่มน้ำพองใส หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) นักแสดงชื่อก้อง "วินัย ไกรบุตร" ได้เสียชีวิตลงในวัย 54 ปี ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์ได้อธิบายเกี่ยวกับ โรคตุ่มน้ำพองใส ว่า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันสร้างสารแอนตีบอดี้มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกัน กลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โดยทั่วไปสามารถแบ่งโรคได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
โรคตุ่มน้ำพองใส อาการ
สำหรับ โรคเพมฟิกอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของ วินัย ไกรบุตร นั้น พบได้บ่อยกว่า โรคเพมฟิกัส โดยมีรายงานอุบัติการณ์ประมาณ 3 คนต่อประชากร 100,000 คน มักพบโรคในผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี พยาธิสภาพเกิดจากการลอกของชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ออกจากกัน ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดง คัน นำมาก่อน
ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยาก ตุ่มน้ำอาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วโปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าโรคเพมฟิกัส
ส่วน โรคเพมฟิกัส มีอุบัติการณ์การเกิดโรคประมาณ 1 คนต่อประชากร 100,000 คน อายุเฉลี่ยที่เป็นโรคอยู่ช่วง 50-60 ปี พยาธิสภาพของโรคอยู่ในชั้นหนังกำพร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากนำมาก่อน
มีอาการเจ็บ อาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้ เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ อาการทางผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำที่แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบมาก เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำโดยไม่เป็นแผลเป็น
ลักษณะเด่นของโรค "เพมฟิกอยด์" ต่างจาก "เพมฟิกัส" คือ ตุ่มพองจะเต่งตึงแตกได้ยากเนื่องจากการแยกตัวของผิวอยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก สามารถพบโรคเพมฟิกอยด์ได้บ่อยในคนสูงอายุ ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษา โรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพองใส
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพอง อาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและการตรวจชิ้นเนื้อด้วยวิธีอิมมูนเรืองแสง การรักษามุ่งหวังให้ลดการเกิดตุ่มน้ำใหม่และให้แผลที่มีอยู่แล้วหายเร็วที่สุด ยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน โดยแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาลงเมื่อคุมอาการได้
ส่วน "โรคเพมฟิกอยด์" ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย โรคตุ่มน้ำพองมีการดำเนินโรคค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจกลับเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่า จะเป็นโรคตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้
ข้อมูล กรมการแพทย์, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่