เรื่องของ “สุขภาพจิต” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ จากข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า หลังเกิดถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ความเจ็บป่วยส่งผลให้ผู้คนอารมณ์เปลี่ยนแปลง เกิดความเครียด ความกลัว วิตกกังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ซึ่งในมุมของจิตใจแต่ละบุคคลก็มีวิธีบำบัดรักษาต่างกัน และ “ศิลปะบำบัด” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยโครงการจิตอาสา “Arttitude” ที่นำศิลปะมาบำบัดจิตใจ ช่วยสร้างสุขภาพจิตให้กับคนทุกช่วงวัยได้ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ ที่มีจิตอาสา ต้องการนำเสนอองค์ความรู้ที่มี ส่งต่อสู่ชุมชน
นางสาวดาลิดา เจนวัฒนวิทย์ หรือน้องมิลลี่ นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนประจำในรัฐ Connecticut สหรัฐอเมริกา ผู้จุดประกายให้เกิด “Arttitude” เล่าถึงที่มาที่ไปให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า สมัยเป็นเด็กมิลลี่มีภาวะทางด้านอารมณ์ที่ไม่ปกติ เป็น Perfectionist ทำอะไรนิดหน่อยไม่สมบูรณ์หรือบิดเบี้ยวจะอารมณ์เสียมาก คุณแม่จึงส่งไปเรียนศิลปะสีน้ำที่ค่อนข้างยากในตอนแรก เพราะการระบายสีน้ำทำยังไงก็บิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์แบบ กระทั่งผ่านไปสักระยะถึงเริ่มชอบความบิดเบี้ยวของภาพที่วาดขึ้น สามารถช่วยบำบัดอารมณ์ได้ จึงอยากแบ่งปันการบำบัดนี้ให้กับคนอื่น พร้อมศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะบำบัด จนได้เทคนิค Neurographica นักจิตวิทยาชาวรัสเซียนำมาปรับใช้ในโครงการ
“อาร์ตติจูด (Arttitude) เป็นโครงการที่เข้าถึงง่าย เหมาะสมกับคนทั่วไป ช่วยส่งเสริมสมาธิ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนัก มีกระดาษ สีน้ำ ปากกาแมจิก พู่กัน เรียกว่า “ชุดปฐมพยาบาลทางจิตใจ””
ด้วยขั้นตอนและแบบฟอร์มชัดเจนที่ใครๆ ก็ทำได้ผ่านคิวอาร์โค้ตผลงานของแต่ละคนจะมีออกมาตามสภาพอารมณ์ในแต่ละวันซึ่งจะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันโดยโครงการนี้ได้คิดริเริ่มทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 สังเกตุเห็นว่าผู้คนหันมาสนใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น แต่ยังขาดการดูแลสุขภาพจิตอยู่ จึงหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับศิลปะบำบัดมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยช่วยดูแลรักษาสภาพสภาพจิตใจและอารมณ์ของตนเองในวัยเด็กมาเป็นแนวทาง เพื่อให้สามารถดูแลสภาพจิตใจของผู้คนได้
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งแรกของโครงการจัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านหนองหาดใหญ่ มีเด็กเข้าร่วมประมาณ 60 กว่าคน พร้อมกับอาสาสมัครที่เริ่มจากกลุ่มเพื่อนและญาติพี่น้องร่วมกันทั้งหมด 28 คน และมี ดร.พิมพนิต คอนดี จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และได้บริจากชุดศิลปะบำบัดไปแล้ว 260 ชุด ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ผลตอบรับถือว่าดีเพราะผู้เข้าร่วมได้รับการดูแลและบำบัดจิตใจของตัวเอง ทั้งช่วยเสริมสร้างสมาธิในเด็กเล็ก ลดความเครียดของผู้ใหญ่ รวมถึงช่วยลดภาวะหลงลืมในผู้สูงอายุ ซึ่งงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดออกมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ขั้นตอนให้อยู่กับตัวเอง ทำให้จิตใจสงบ แต่ไม่สามารถประเมินผลทางจิตวิทยาในทางการแพทย์ได้
นอกจากนี้ โครงการอาร์ตติจูดยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ชื่อว่า “Chapter Program” โดยจะให้ตัวแทนโครงการของแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละประเทศที่สนใจ นำชุดปฐมพยาบาลทางจิตใจไปพัฒนาและขยายต่อในชุมชน เจาะกลุ่มคนให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบริจากให้กับชุมชนโครงข่ายในไทย อเมริกา ฮ่องกง เกาหลี รวมถึงกำลังเจาะกลุ่มไปที่ญี่ปุ่น และจีน โดยมี School Chapter 5 แห่ง ที่เป็น Active Chapters: Brighton College Bangkok, Bangkok Pattana School, Bangkok Prep, Shrewsbury, Suffield Academy และ Currently developing: Middlesex School, China
ด้าน นายเจน เจนวัฒนวิทย์ ผู้ปกครองน้องมิลลี่ กล่าวว่า จากมุมของพ่อที่ได้เห็นลูกใช้ศิลปะบำบัด เห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกได้อย่างชัดเจน เพราะอาการของ Perfectionist มีความเครียดและความกังวลค่อนข้างสูง เด็กมักจะร้องไห้ โมโหง่ายกับความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นการนำศิลปะเข้ามาบำบัด ทำให้ลูกเข้าใจว่าความสวยงามหรือความถูกต้องของมนุษย์ไม่ได้เพียงเพียง 1 แบบ สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสร้างให้ถูกต้องได้ในแบบที่เราเป็น เพราะการทำผิดพลาดเพียง 1 ครั้งไม่จำเป็นว่าต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ทั้งหมด และศิลปะที่ใช้คือการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านกระดาษ ทั้งสีสันและการวาด รวมถึงการใช้ความคิด
“การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่ผมเห็นคือ ลูกรู้สึกยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถใช้เวลากับตัวเอง 5-6 ชั่วโมงในการนั่งทำศิลปะได้ อะไรที่เคยคิดว่าไม่สมบูรณ์ก็ปล่อยให้อารมณ์สงบนิ่งมากขึ้น และลูกผมชอบศิลปะซึ่งเป็นความบันเทิงและช่วยทางด้านจิตใจด้วย”
ศิลปะบำบัดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกับการต้องเคร่งเครียดในเรื่องของการเรียน การทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน