วิกฤติสุขภาพจิตไทย "ซึมเศร้า-วิตก" พุ่ง นักจิตวิทยา 1 คน แบกดูแล 1.3 แสนคน

05 ธ.ค. 2566 | 03:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2566 | 06:12 น.

เจาะลึกปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย พบ "ข่าวปลอม" ต้นเหตุสำคัญ จำนวนผู้ป่วยเพิ่ม แต่หมอยังมีน้อย ระบุ นักจิตวิทยา 1 คน ต้องแบกดูแลประชาชน 1.3 แสนคน

รู้หรือไม่ ? ว่า 1 ใน 8 ของประชากรโลก หรือประมาณ 1,000 ล้านคน กำลังเผชิญ "ปัญหาสุขภาพจิต" เเละทุก 40 วินาทีมีคนฆ่าตัวตาย 1 คน สำหรับประเทศไทย 9.55 นาที จะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน หรือ 5,500 รายต่อปี และเป็นการฆ่าตัวตายที่สามารถหยุดยั้งได้ หากทุกคนช่วยเหลือกัน

งานวิจัยเรื่อง Futures of Mental Health in Thailand 2033 จัดทำโดย 4 องค์กร ที่วิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ชี้ให้เป็นว่าประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยด้านปัญหาสุขภาวะทางจิตจะเพิ่มขึ้น โดยมีการรวบรวมสถานการณ์และสถิติในเเต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน ศักยภาพด้านดิจิทัล สถานการณ์ทางจิตของวัยรุ่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่ล้วนมีความเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสุขภาพจิต

ขณะที่ปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 ราย ส่วนใหญ่จากอาการ โรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล สวนทางกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 

Mental Health

"ข่าวปลอม" ต้นเหตุหลักปัญหาสุขภาพจิต

ข่าวปลอมในประเทศไทยถูกแชร์มากกว่า 20.3 ล้านครั้ง ระว่างปี 2564 - 2565 สถิตินี้เป็นประเด็นที่น่าห่วง เพราะข่าวปลอมรวมไปถึงการหลอกลวงให้เกิดความเสียหาย จะกระตุ้นความเครียดในรูปแบบใหม่ ซึ่งกรมสุขภาพจิตพยายามตามให้ทัน แต่ก็มักจะมีการพัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอ เพราะผู้คนใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับข่าวเหตุการณ์ในสังคม ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง

โดยเฉพาะข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ ที่สะเทือนความรู้สึกของคนไทยและทั่วโลก อย่างเหตุการณ์ใน จ.หนองบัวลำภู และเหตุการยิงที่พารากอน ซึ่งตลอดการรายงานข่าวจะเห็นว่าประชาชนจะเกิดความรู้สึกต่อเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียดและกระทบต่อสุขภาพจิตได้ ตามข้อมูลของ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

ข่าวปลอมในประเทศไทยถูกแชร์มากกว่า 20.3 ล้านครั้ง

เฟ้นหาเเนวทางแก้ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยผ่านเวทีประกวด TYPI 

สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยควรมองสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ต้องยกระดับกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดทำนโยบายสาธารณะร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ โดยเฉพาะ "คนรุ่นใหม่" ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาร่างนโยบายเเละนวัตกรรมทางสังคม ผ่านเวทีการประกวด โครงการ Thailand Youth Policy Initiative 2023 ซึ่งเป็นโครงการการแข่งขันการระดมความคิดเพื่อร่วมเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพในสังคม ผ่านการพัฒนาร่างนโยบายและนวัตกรรมทางสังคม หัวข้อหลักในปี 2566 คือ สุขภาวะทางจิตในชุมชน (Community Mental wellbeing) โดยเสนอผลงานเข้ารอบ 20 ทีมจากทั่วประเทศ 

"10-20 ปีก่อน ไม่เคยมีการจัดเวทีเยาวชนร่วมสร้านโยบาย รวมถึงอาจไม่มีเยาวชนกล้าออกมาบอกว่าต้องการทำนโยบาย ในฐานะจิตแพทย์รู้สึกใจฟูมากที่น้องๆหันมาสนในทำเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าในอนาคตนักศึกษาแพทย์ที่มาแสดงผลงานจบไปแล้ว ต้องการเป็นจิตแพทย์หรือไม่ แต่แพทย์ทุกคนมีส่วนในการร่วมทำงานด้านสุขภาพจิตได้ในสายงานของตัวเอง เราไม่ได้ต้องการจิตแพทย์เต็มประเทศ แต่ต้องการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะจิตที่ดีได้" ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า ปัจจุบันมีตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตพบว่า นักจิตวิทยา 1 คน ดูแลประชาชนมากกว่า 130,000 คน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการใช้คนในชุมชนดูแลคนที่มีความเสี่ยงก็เป็นทางออกที่ดี

ในมิติการทำงานของ สสส. ตามกฎหมายทำงานที่เน้น "สร้าง นำ ซ่อม" คือการดูแลสุขภาวะของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ป่วย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนทางใจ เพื่อลดปัญหาภาวะซึมเศร้าภาวะเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหา หรือโรคร้ายแรงตามมา การประกวดนวัตกรรมและนโยบายครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรวมกำลังจากคนที่อยู่ในชุมชน นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาด้านอื่น ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำแนะนำ จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาดูแล เพราะลำพังจิตแพทย์ในไทยมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นการทำงานผ่านชุมชนเพื่อจะให้เกิดนวัตกรรมเพื่อคนหมู่มากก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ

"การให้กลุ่มคนที่มีความสนใจในการที่จะจัดการสุขภาพจิตชุมชนได้ นี่คือสิ่งที่ สสส.พยายามมองหา คาดว่าหลังจากนี้จะมีการต่อยอดนวัตกรรมและนโยบายของน้อง ๆ มีการประชุมหารือเพิ่มเติมร่วมกับ ทั้ง สช. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นนโยบายที่แท้จริง" ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าว 

จากจุดเด่นในมุมมองของภาครัฐอย่าง สปสช. ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เยาวชนเหล่านี้สามารถนำไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง และผลงานดีจะสำเร็จได้ต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุน ซึ่ง สปสช. มีงบประมาณที่จะส่งเสริมการทำงานกับท้องถิ่นอยู่แล้ว ในอนาคตอาจมีการหารือต่อยอดจากผลงาน 20 ชิ้น ซึ่ง เชื่อว่าสามารถเขียนโครงการของบประมาณเพื่อดำเนินการได้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว 

ปัญหาสุขภาวะทางจิตในโรงเรียน

ขณะที่ นางสาวนาเดีย ทวีพงศธร นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประธานโครงการร่วมจาก TYPI สะท้อนผลงานของคนรุ่นใหม่ ที่สังเกตเห็นได้ว่าหลายๆ ทีม มองเห็นปัญหาในโรงเรียนมากขึ้น เพราะมองว่าโรงเรียนเป็นหนึ่งในชุมชน และเห็นว่าเด็กยังมีปัญหาสุขภาวะทางจิตอยู่ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เพื่อหาแนวทางที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ เช่น ครูแนะแนวในโรงเรียน นักจิตวิทยาในโรงเรียน

วิกฤติสุขภาพจิตไทย \"ซึมเศร้า-วิตก\" พุ่ง นักจิตวิทยา 1 คน แบกดูแล 1.3 แสนคน

สุดยอดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคม แก้ปัญหาสุขภาพจิต

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานนวัตกรรมและนโยบายสาธารณะด้วยการแก้ปัญหาสุขภาวะทางจิตอย่างเป็นระบบ (Mental Wealth) โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในชื่อ ทีมป้าข้างบ้าน ที่สร้างนวัตกรรมที่เกิดจากค่านิยมของคนไทยที่มองว่า ป้าข้างบ้าน เป็นคนอื่นที่มาสนใจเรื่องชาวบ้าน โดยการศึกษาชุมชนต้นแบบพบปัญหาสำคัญต่อสุขภาพจิต  คือ ขาดแคลนความรู้และขาดการเข้าถึง 2. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความปลอดภัย และ  การซ่อนเร้นความรู้สึกและผู้ป่วยแอบแฝง

โดยมีหลักสำคัญคือ 1. นโยบาย Community Heroes ด้วยการให้ อสม. เป็นแกนนำในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตร่วมกับทางกาย 2. นโยบายวัคซีนใจ คือ การมีพื้นที่ในการเป็นที่ปรึกษาทางใจให้กับชาวบ้าน พัฒนาการสื่อสารสร้างความเข้าใจ 3. Protect your Heart เสนอให้มีการตรวจสุขภาพจิตในการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อการคัดครอง 4. Family First Safe หน่วยงานที่เกี่ยวกับเด็กและครอบครัว เข้ามาให้ความรู้พ่อแม่ในการมีบุตรตั้งแต่ก่อนและหลังตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ 5. Mental Wealth for Education ส่งเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสุขภวะทางจิตในสถานศึกษา รวมทั้งสนับสนุนให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานนวัตกรรมและนโยบายจาก ทีม Psykidder มองปัญหาสุขภาพจิตและสิ่งแวดล้อมมาคู่กัน จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาทั้ง 2 ด้านผ่านการใช้แอปพลิเคชัน WELLCOMM

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงานนวัตกรรมและนโยบาย "เหนี่ยวใจ ไปสวรรค์" โดย ทีม Panacea ที่นำปัญหาการสูบบุหรี่และเสพสิ่งเสพติดในวัยรุ่น และการขาการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตมาพัฒนาต่อยอด 

รางวัลชมเชย คือ ผลงานนโยบายบรรจุเนื้อหาเรื่องสุขภาวะทางจิตลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนวัตกรรม บอร์ดเกม Oh, My Mind! โดย ทีมชนะเดี๋ยวบอก ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ทำอย่างไรเพื่อให้เด็กสนใจสุขภาวะทางจิตมากขึ้น

วิกฤติสุขภาพจิตไทย \"ซึมเศร้า-วิตก\" พุ่ง นักจิตวิทยา 1 คน แบกดูแล 1.3 แสนคน

ที่มาข้อมูล