10 เคล็ดลับห่างไกลภาวะ "Burnout" ปรับพฤติกรรม-สร้างภูมิตัวเอง

24 มี.ค. 2567 | 01:12 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2567 | 03:13 น.

อาการหมดไฟ หรือ "Burnout" (เบิร์นเอาท์) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเรียน หรือเรื่องส่วนตัว การปรับพฤติกรรม-เปลี่ยนมุมมองจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันตัวเองได้

“Burnout” หรืออาการ "หมดไฟ" เป็นหนึ่งในภาวะทางจิตใจที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในกลุ่มวัยทำงานมากกว่า เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียด กดดัน ไม่มีเวลาให้กับตัวเอง รวมถึงอาจต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึดอัด ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนวัยทำงานขาดสมดุลในการใช้ชีวิตไป 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกมาเปิดเผยวิธีสังเกตอาการ Burnout ว่าเกิดได้ทั้งทางกายและทางใจ โดยทางกายจะพบอาการตั้งแต่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย รู้สึกอ่อนล้าอยู่ตลอดเวลา นอนไม่หลับ ไปจนถึงมีความอยากอาหารน้อยลง ในส่วนทางด้านจิตใจก็จะมีตั้งแต่ หงุดหงิดง่าย รู้สึกล้มเหลว ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน มีความรู้สึกลบต่องาน เพื่อนร่วมงาน และผู้คนรอบข้าง ขาดสมาธิหรือความคิดสร้างสรรค์ ถอยห่างจากสังคม ตลอดจนขาดงานและไม่มีความรับผิดชอบต่องาน ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้นำเสนอวิธี “ปรับพฤติกรรมง่ายๆ ป้องกันใจ Burnout” ไว้ดังนี้

10 เคล็ดลับสร้างภูมิ ห่างไกลภาวะ "Burnout" - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

10 เคล็ดลับสร้างภูมิ ห่างไกลภาวะ "Burnout"

1. หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย
คอยสำรวจตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในด้านของจิตใจและพฤติกรรมของตัวเอง ว่าเข้าข่ายมีอาการ Burnout หรือไม่ เพื่อหาทางผ่อนคลายและเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะกับตัวเอง

2. ทบทวนลำดับความสำคัญงาน

เรียงลำดับความสำคัญของงานให้ดีว่างานไหนควรที่จะต้องทำก่อน-หลัง รวมถึงตั้งขอบเขตในการทำงานให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาในการทำงานที่อาจพบเจอ

3. จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

สถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานล้วนมีปัจจัยส่งผลกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมให้ดีและเหมาะกับการนั่งทำงาน เพื่อลดสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเครียด

4. ปรับเปลี่ยนทัศนคติกับงาน

เนื่องจากไม่มีงานไหนที่เราจะชอบทำได้แบบ 100% ไปตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไม่เหมือนเดิมกับงานที่ทำ ให้ลองเปลี่ยนทัศนคติ พร้อมกับมองหาคุณค่าในงานที่ทำ เพื่อเป็นแรงใจในการทำงานต่อไป

5. ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่

เราไม่สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตัวคนเดียว การออกไปทำความรู้จักกับผู้อื่นเพื่อเพิ่มสังคมทั้งในและนอกที่ทำงานอาจทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะนอกจากจะมีคนคอยช่วยเหลือกันในด้านการทำงานแล้ว ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีนอกเหนือจากเรื่องงานอีกด้วย

6. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับให้เพียงพอ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการใช้ชีวิต หากร่างกายไม่พร้อมก็จะส่งผลไปยังจิตใจ ซึ่งอาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือคุณภาพการทำงานลดลงได้ รวมถึงหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับสมดุลกายใจ

7. แบ่งเวลาทำในสิ่งที่ชอบ

เราควรมีเวลาให้กับตัวเองในการทำสิ่งที่ชอบอยู่เสมอ อาทิ ดูภาพยนตร์ ทำอาหาร เล่นเกม หรือออกไปสังสรรค์ เพราะนอกจากจะเพื่อคลายความเครียดแล้ว ยังเป็นการเติมพลังไว้ใช้ในการทำงานและทำสิ่งที่ยากได้อีกด้วย

8. สร้างสมดุลให้ชีวิตการทำงาน

การมี Work-life Balance ที่ดี จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการทำอะไรแบบขาดสมดุลความพอดีอาจส่งผลให้เกิดความกดดัน ความเครียด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว

9. ลดการใช้เวลากับคนที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรืออึดอัด

การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นยากอยู่แล้ว การต้องใช้เวลาไปกับคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดียิ่งทำให้สุขภาพจิตของเราเสียไปด้วย การพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกอึดอัดและหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือพบเจอกับบุคคลเหล่านั้นได้ เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ

10. ปรึกษาผู้ที่วางใจได้

คนเราควรมีใครสักคนที่สามารถระบายความทุกข์ในใจด้วยได้ เพื่อเป็นการลดความเครียดและปลดปล่อยตัวเองจากเรื่องที่เป็นทุกข์ โดยควรที่จะมีเวลาระบายความรู้สึกกับบุคคลที่ไว้ใจได้เป็นระยะ เพื่อสุขภาพจิตใจที่แข็งแรง


ขอบคุณที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย