มาต่อกันว่าด้วยเรื่องภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ที่เราต้องรู้เท่าทันโรคจะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธี ก่อนสายเกินไปอาจส่งผลเป็นโรคทางสมอง บางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้
“นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์” จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าต่อว่า คนที่ไม่รู้ว่าจะต้องหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โรควิตกกังวล หรือคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น stroke (หลอดเลือดสมอง) อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง โรคปอด ลมชักผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น คนไข้เหล่านี้อาจต้องเผชิญกับภาวะเครียดกับโรคที่เป็นอยู่ สิ่งสำคัญคือ กำลังใจในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้น
ศูนย์จิตรักษ์ มีกิจกรรมบำบัดดูแลและฟื้นฟูสุขภาพจิต (Psychosocial Rehabilitation)อาทิ จิตบำบัดหลากหลายรูปแบบ กิจกรรมจะถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการและความถนัดของแต่ละคน ตัวอย่างการทำกิจกรรมบำบัด อาทิ
1. อาหารบำบัด Cooking therapy เป็นการใช้ทักษะ สมาธิในแต่ละขั้นตอน ให้คนไข้อยู่กับตัวเอง และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 2. การเคลื่อนไหวบำบัด Dance & Movement therapy 3. ดนตรีบำบัด Music therapy 4. โยคะบำบัด Yoga therapy 5. ศิลปะบำบัด Art therapy 6. ละครบำบัด Dramatherapy การนำศาสตร์ของละครอาจเป็นบทบาทหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ มาทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ เติมเต็มความสุข และหลายกิจกรรมยังช่วยให้ค้นหาศักยภาพและคุณค่าในตนเอง
อย่างผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต อ่อนแรง ไม่สามารถขยับหรือใช้งานร่างกายได้ดีเหมือนเดิม การทำกายภาพบำบัดและการกินยาเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรักษาอาการให้ดีขึ้นในระยะยาว คือทำอย่างไรให้คนไข้อยู่ได้กับตัวตนของเขาในแบบใหม่ การให้ยาอาจช่วยให้อาการทางกายไม่กลับมาเป็นซํ้า แต่การที่คนไข้ไม่สามารถควบคุมแขนขาได้ดีเหมือนเดิม ฉะนั้นการรักษาทางใจควบคู่ไปกับทางกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ การนำกิจกรรมเข้ามาบำบัด ทำให้คนไข้สามารถอยู่กับร่างกายตัวเองได้มากขึ้น ควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้มากขึ้น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคนหนึ่งอาจต้องการฟื้นฟูตนเองเพียงขอแค่ตักอาหารรับประทานเองให้ได้เป็นอันดับแรก เป็นต้น
หรือคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โรคอาจยังไม่หายแต่ทำอย่างไรให้คนไข้อยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข ไม่เครียด ให้เข้าใจมากขึ้น คนที่เป็นมะเร็งจะมีความเจ็บปวดจากอาการของโรค อารมณ์ไม่ค่อยดีอาการเหล่านี้เป็นความเจ็บที่เรื้อรัง การให้คนไข้ Cooking therapy ได้มาทำกับข้าว อบขนม ได้มีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าไปพะวงกับความเจ็บปวดจากอาการของโรคที่เป็นอยู่ ก็ช่วยให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นระหว่างทำกิจกรรม
ซึ่งความรู้สึกดีๆ ตรงนั้นมีค่ามาก และคนไข้ก็สามารถหยิบเอาความรู้สึกดีๆ นำกลับไปใช้ต่อที่บ้าน ได้เป็นการเยียวยาสภาพจิตใจได้อีกทางหนึ่ง
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562