thansettakij
ภาวะ "Brown Out" ไม่ได้หมดไฟ แต่หมดใจ ปัญหายอดฮิตวัยทำงาน

ภาวะ "Brown Out" ไม่ได้หมดไฟ แต่หมดใจ ปัญหายอดฮิตวัยทำงาน

24 มี.ค. 2567 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2567 | 04:41 น.

อาการไฟตก ภาวะทางจิตใจที่พบได้ในคนวัยทำงาน ผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้จะรู้สึกขาดแรงจูงใจในการทำงาน จากที่เคยกระตือรือร้น นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่องค์กรต้องตระหนัก

ภาวะ "Brown Out" หรืออาการ “ไฟตก” จะมีอาการที่แตกต่างจากภาวะ Burnout เนื่องจากอาการหมดไฟเกิดจากความเครียดสะสม อันส่งผลให้มีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป รู้สึกเบื่องาน ไม่อยากทำงาน มีความคิดลบต่องานและเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งนี้ การขาดสมดุลในชีวิตและในการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนวัยทำงานรู้สึกว่าตัวเองยังจัดการกับหน้าที่การงานไม่ดีพอ ทำให้รู้สึกล้มเหลว ไม่มีแรงใจในการทำงาน และรู้สึกหมดไฟในการทำงานในที่สุด รวมถึงยังส่งผลไปถึงสุขภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงอีกด้วย

ในส่วนของภาวะ Brown Out นั้น หากมองในกลุ่มวัยคนทำงานให้เข้าใจง่ายคือ ภาวะหมดใจในการทำงาน จากที่เคยมีความกระตือรือร้น มุมานะ และมีไฟในการทำงานด้านต่างๆ กลับกลายเป็นรู้สึกว่าภาระงานที่ได้รับมากเกินไป จนไม่อยากสนใจงาน ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายไปวันๆ แสดงความคิดเห็นหรือแสดงตัวตนในที่ประชุมหรือที่ทำงานน้อยลง ไม่อยากรับรู้หรือทำงานอะไรที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของตัวเอง ตลอดจนมีความทุกข์ทางใจอันส่งผลกระทบไปยังเนื้องานและผู้ร่วมงาน 

โดยอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการหมดไฟในการทำงาน แต่เป็นการหมดใจต่องานที่ทำและต่อองค์กร ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวขององค์กร เนื่องจากพนักงานอาจขอลาออกทั้งที่ทำงานได้ดีมาโดยตลอด เป็นอาการที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจและไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นมากเท่าผู้ที่อยู่ในภาวะหมดไฟที่ทำพฤติกรรมเปลี่ยนไป บางคนอาจดูเหมือนทำงานได้ปกติ ยิ้มแย้ม แจ่มใส แต่ภายในอาจกำลังรู้สึกหมดใจต่องานและต่อองค์กรอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น ปัญหานี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาส่วนตัวอีกต่อไป ทว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่องค์กรต้องตระหนักและหาวิธีแก้ไข เพื่อที่จะสามารถรักษาบุคลากรและความมั่นคงขององค์กรต่อไปได้ 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า องค์กรมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขและป้องกันภาวะ Brown Out ดังนี้

กำหนดทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน

เพื่อให้พนักงานรู้ทิศทางขององค์กรและดำเนินงานภายใต้เป้าหมายเดียวกัน นอกจากจะเป็นการทำให้งานขององค์กรออกมาดีแล้ว ยังทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาองค์กร และนั่นจะทำให้พวกเขามีแรงกายแรงใจในการทำงานเพื่อองค์กรต่อไป

ไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด จุกจิก และตีกรอบมากจนเกินไป

การกำหนดกฎระเบียบเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องไม่เป็นการกำหนดที่เข้มงวดและเป็นเส้นตรงเกินไป ให้อิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน ควบคู่ไปกับการให้พื้นที่ที่พนักงานจะสามารถทำงานและมีชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล

มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม

หากภายในองค์กรขาดความเท่าเทียมและความเป็นธรรม นอกจากจะส่งผลให้ทิศทางขององค์กรไม่มั่นคงแล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกด้อยค่า ไม่เกิดการเติบโตในสายอาชีพ และภักดีต่อองค์กรน้อยลง จนกลายเป็นทำงานเพื่อให้ผ่านพ้นไป ไม่ได้สนใจที่จะพัฒนาให้องค์กรดีขึ้น อันนำมาสู่ภาพลักษณ์องค์กรที่ขาดความเชื่อมั่น

พร้อมสนับสนุน ไม่ความคาดหวัง-กดดันสูงเกินไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่องค์กรจะคาดหวังให้พนักงานทำและเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หากแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ มีเหตุผล ไม่กดดันจนมากเกินไป รวมถึงคอยสนับสนุน ให้การช่วยเหลือ ไม่ละเลยหรือปล่อยให้พนักงานแบกรับความคาดหวังอยู่เพียงฝ่ายเดียว

สังเกตสัญญาณเตือน มีการสื่อสารและรับฟังที่ดี

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมีการพูดคุยสื่อสารกับพนักงาน รับฟังความรู้สึก ความต้องการ และคาดหวัง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

การแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและมองเห็นคุณค่า

นอกจากต้องหมั่นสังเกตและพูดคุยสื่อสารกับพนักงานอยู่เสมอแล้ว เมื่อพบปัญหาองค์กรจะต้องมีการมอบหมายงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใหม่ อาทิ แบ่งเบาภาระงาน ให้ลาหยุดหรือให้อิสระในการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร และนำพาพวกเขาให้สามารถพัฒนาตนเองไปพร้อมกับองค์กรได้ 


ทั้งนี้ ภาวะ "Brown Out" เป็นอาการที่หากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นภาวะที่อยู่ระยะยาว เนื่องจากเกิดจากการสะสมของความรู้สึกภายในจิตใจที่จะแสดงออกมาโดยไม่ทันตั้งตัว องค์กรจำเป็นที่จะต้องหมั่นเติมขวัญและกำลังใจ ยินดีกับการเติบโตและการมีอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงคอยให้การสนับสนุน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายของงานและการดำเนินชีวิตไปพร้อมกันได้

 


ขอบคุณที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)