ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ตั้งแต่ปี 2548 มีอัตราส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยจำนวนประชากรไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ระบุว่า มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ขณะที่ในปี 2576 คาดว่า ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น 3.5 % ต่อปี และมีจำนวนสูงขึ้นถึง 28 % และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society)
แนวโน้มดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องขับเคลื่อนแผนงานรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ดำเนินนโยบายเรื่องการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของประชาชนทุกช่วงวัย ภายใต้แผนปฏิบัติราชการแผนการบูรณาการเพื่อการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566-2570 ตั้งเป้าให้ประชาชนกลุ่มวัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหา ไม่ให้ปัญหานั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำหนดนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 เป็น 1 ใน 13 ประเด็นเร่งด่วน (Quick win) ของกระทรวงฯ ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยจะมีการจัดตั้ง “สถานชีวาภิบาล” ตั้งเป้า เขตสุขภาพละ 1 แห่ง แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระบบชีวาภิบาล โดยศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล และสถานชีวาภิบาลในชุมชน เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน/ติดเตียงผู้ป่วยระยะประคับประคอง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ดี นโยบายสาธารณสุข ในไตรมาส 2 ปี 2567 นี้ ตั้งเป้าจะต้องมี สถานชีวาภิบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเขตสุขภาพละ 2 แห่ง และจัดตั้ง Hospital at Home / Home Ward ในแต่ละเขตสุขภาพได้มากกว่า 75%ขณะที่ในส่วนของงบประมาณปี 2567 ที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข วงเงินงบประมาณรวม 272,191,900 บาท โดยสำนักทันตสาธารณสุขรับผิดชอบ 2 โครงการและสำนักอนามัยผู้สูงอายุ 5 โครงการ รวมทั้งสิ้น 7 โครงการ ซึ่ง 6 โครงการแรกนั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดีประเทศไทยไม่เพียงก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่มีผู้สูงอายุเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งสถานการณ์นี้ กลายเป็นความท้าทายต่อภาครัฐ ที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม ความยั่งยืนของระบบการเงินของครัวเรือน ตลาดการเงิน และระบบการคลังของประเทศ รวมถึงต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทำ ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและผู้สูงวัย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความท้าทายในด้านต่างๆ ที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 25 มาตรการสำคัญเร่งด่วนแล้ว
ขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่น่าจับตา ด้วยสถานะทางสังคม ความพร้อมในการจับจ่าย และอิสระในการใช้ชีวิต กลุ่มจึงกลายเป็น Blue Ocean ที่ภาคธุรกิจต้องพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ
นางวรรณา สวัสดิกูล ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้สูงวัยที่เติบโตแบบก้าวกระโดด แบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ต้องรีบปรับตัว หันมาให้ความสำคัญเพราะเป็น Blue Ocean มากๆ เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ การทำการตลาดแบบ targeted จึงเป็นทางออกที่ดี ซึ่งนักการตลาดต้องมองตลาดนี้ใหม่ เป็นวัยเก๋าที่มีครบทั้งเวลา กำลังซื้อ loyalty สูง และอายุยืนยาวขึ้น
“พฤติกรรมการช้อปปิ้งของกลุ่มนี้ ก็เป็นที่น่าจับตามอง พบว่า 85% ยังชอบไปซื้อที่ร้าน แต่ 61% ก็ช้อปออนไลน์ และอีก 22% นิยมซื้อจากร้านขายยาโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ โดยการตัดสินใจซื้อจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการมากกว่าเรื่องราคาหรือโปรโมชั่น และเลือกช้อปกับแบรนด์หรือร้านค้าที่รู้จักและไว้ใจ มีความจงรักภักดีกับแบรนด์สูงไม่ชอบเปลี่ยนชอบลองเหมือนกลุ่มนักช้อปวัยรุ่น สินค้าที่ช้อปและใช้เงินมากสุด เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อาหารเสริม, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ประกันสุขภาพ ฯลฯ”
นายคริสเตียน ทอยวาเนน ผู้อำนวยการบริหาร โครงการ ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Aspen Tree The Forestias) กล่าวว่า กลุ่มวัยอิสระนับเป็นประชากรที่มีความสำคัญต่อสังคม เพราะคนกลุ่มนี้จำนวนมาก มีความสามารถและ ประสบการณ์มากมาย หลายคนยังแอคทีฟ สามารถทำงาน ทำประโยชน์ เพื่อสังคมได้ไม่ด้อยไปกว่า ประชากรวัยทำงาน การส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขามีความสุข แต่ยังส่งผลถึงการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพในทุกมิติ
“แนวโน้มค่าเฉลี่ยอายุที่สูงขึ้นของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โครงการจึงร่วมมือกับศูนย์วิจัยและองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลวัยอิสระในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้โครงการมีความพร้อมในการรองรับประชากรวัยอิสระได้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนถึงการให้บริการหลังลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยในโครงการแล้ว”
อีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อตอบรับสังคมผู้สูงอายุ คือ “การดูแล รักษา และฟื้นฟูผู้สูงอายุ” ส่งผลให้ธุรกิจ Nursing Home ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร, ธุรกิจ Nursing Care รวมถึงการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Healthcare) ซึ่งปัจจุบันพบว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างจับมือกับพันธมิตร ในการให้บริการส่งต่อผู้สูงอายุ เข้ารับการดูแลแบบครบวงจร
ไม่ใช่เพียงการรักษาตามอาการโรค แต่เป็นการดูแล พร้อมทำกิจกรรมร่วมกันด้วย อาทิ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) เข้าถือหุ้น “บ้านลลิสา” ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ, พฤกษา โฮลดิ้ง เข้าซื้อหุ้น Chersery Home ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู, พานาซี เมดิคอล กรุ๊ปจับมือโครนัส โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) ขยาย mynurz เพื่อรองรับผู้สูงวัยเช่นกัน
แนวโน้มเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ยังคงเติบโตและเบ่งบาน จากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ทั้งในและต่างประเทศ