สรุปความท้าทายสำคัญของผู้สูงอายุไทยใน "ยุคแก่ก่อนรวย"

13 เม.ย. 2567 | 01:00 น.

ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวของประเทศไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากยังคงเผชิญปัญหา ทั้ง ด้านรายได้ การทำงาน เงินออม สุขภาพ ที่พักอาศัย

สถานการณ์ "สังคมผู้สูงอายุ" ของประชากรไทยเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนทั้งประเทศ ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเลื่อนขั้นจาก Aging Society เป็น Aged Society ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นับว่าเร็วกว่าหลายๆ ประเทศอย่าง สิงคโปร์ จีน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปของไทย คิดเป็น 13.6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งองค์การสหประชาชาติ คาดว่าสัดส่วนดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 20% จะส่งผลให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ในปี 2572 เป็นระดับสูงสุดของสังคมสูงวัย เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง หรือเป็นประเทศที่ "แก่แต่รวย" ซึ่งตรงข้ามกับไทยที่มีแนวโน้มอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "แก่ก่อนรวย"

ความรวดเร็วและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย จึงกลายเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งรับมือ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

"วิจัยกรุงศรี" อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการสำรวจความท้าทายของผู้สูงอายุไทยในมิติต่างๆ

ด้านรายได้ของผู้สูงอายุ

รายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จากการสำรวจ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 25649 พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 87,136 บาท หรือเดือนละ 7,261 บาท (เฉลี่ยวันละ 242 บาท) ซึ่งน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ผู้สูงอายุเกินกว่าครึ่ง (56%) พึ่งพารายได้จากผู้อื่น เช่น บุตรหลานหรือคู่สมรสมากที่สุด ตามมาด้วยเบี้ยยังชีพจากภาครัฐ ส่วนผู้สูงอายุที่มีรายได้จากการทำงานมีเพียง 32% 

การพึ่งพารายได้จากภายนอกเป็นหลัก จึงทำให้ผู้สูงอายุกว่า 40% เผชิญความไม่แน่นอนด้านความเพียงพอของรายได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสัดส่วนกลุ่มดังกล่าวสูงถึง 52% ในขณะที่ผู้สูงอายุทั่วประเทศที่มีรายได้เพียงพอจนเหลือเก็บมีไม่ถึง 5% เท่านั้น

บรรดาผู้สูงอายุที่มีการออม พบว่า กว่า 40% มีเงินออมไม่ถึง 50,000 บาท สอดคล้องกับการที่เงินออมดังกล่าวไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่  ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งยังมีหนี้สินของตนเอง หรือหนี้สินของสมาชิกคนอื่นในครัวเรือน

 

ด้านการจ้างงานผู้สูงอายุ

การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายต่างๆ ในการจ้างงานผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุทำงานในภาคเกษตรกรรมมากถึง 2.8 ล้านคน คิดเป็น 60% ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานทั้งหมด (4.7 ล้านคน) และคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด (12.4 ล้านคน) เเต่ลูกจ้างสูงอายุในภาคเกษตรกรรมกลับมีรายได้เฉลี่ยที่ต่ำที่สุด อยู่ที่เพียง 6,279 บาทต่อเดือน

สาขาอาชีพที่จ้างงานผู้สูงอายุรองลงมา คือ ค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งจ้างงานผู้สูงอายุราว 6.7 แสนคน หรือ 14% ของแรงงานสูงอายุทั้งหมด แต่จ่ายค่าจ้างเฉลี่ย 9,560 บาทต่อเดือน ทำให้สาขาทั้งสองนี้อาจถูกมองว่าเป็นกลุ่ม "จ้างมาก - จ่ายน้อย"

สาขาอาชีพบริการทางการเงิน ไฟฟ้าและก๊าซ และการศึกษา แม้จะมีการจ้างงานผู้สูงอายุในจำนวนที่น้อยกว่า แต่จ่ายค่าตอบแทนให้สูง โดยมีเงินเดือนมากกว่าแรงงานอายุ 45-59 ปี 

ความท้าทายด้านเงินออมและสวัสดิการภาครัฐ

ผู้สูงอายุสามารถมีรายได้จากสวัสดิการหรือระบบบำเหน็จบำนาญต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

ระบบที่ผู้สูงอายุไม่ต้องสมทบเงินมาก่อน (Non-Contributory Scheme)  เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ (ยกเว้นข้าราชการเกษียณ) ครอบคลุมผู้สูงอายุราว 10.9 ล้านคน ในปี 2565 ส่วนข้าราชการเกษียณอายุจำนวนประมาณ 8.5 แสนคน จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ซึ่งเป็นสวัสดิการเฉพาะข้าราชการ

ระบบที่ผู้สูงอายุต้องร่วมสมทบเงินมาก่อน (Contributory Scheme)   

1) ระบบภาคบังคับ อาทิ กองทุนประกันสังคม มาตรา 33 สำหรับแรงงานในระบบที่มีนายจ้าง และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อเพิ่มเติมเงินออมหลังเกษียณของข้าราชการ 

2) ระบบภาคสมัครใจ อาทิ กองทุนประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40 สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำนาญที่สมทบโดยภาครัฐหรือนายจ้าง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคมทั้ง 3 มาตรา และ กอช. มีราว 8.7 แสนคน

ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ยังไม่มีรายได้จากระบบบำเหน็จบำนาญที่ภาครัฐร่วมสมทบเงิน คือ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ระบบบำนาญข้าราชการ หรือ กอช. เลย มีประมาณ 9.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ มี 2.6 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาทต่อเดือน จากภาครัฐเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้มีรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพยังมีจำนวนมากกว่าผู้สูงวัยที่อาศัยรายได้หลักจากบำเหน็จ บำนาญ เงินออม หรือทรัพย์สิน กว่า 2 เท่า

สาเหตุทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีเงินออมไว้เพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ

ปัจจุบันยังไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญภาคบังคับพื่อแรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร ผู้รับจ้างอิสระ ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย มีเพียงแต่ระบบภาคสมัครใจ (ระบบประกันสังคมมาตรา 39 40 และ กอช.) เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รับความนิยมจากแรงงานนอกระบบมากเท่าที่ควร 

ในปี 2566 จำนวนผู้มีงานทำที่อยู่นอกการคุ้มครองทางประกันสังคม มีราว 21 ล้านคน คิดเป็น 51.2% ของแรงงานทั้งประเทศ หมายความว่าแรงงานกว่าครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ เพราะไม่ได้ถูกบังคับให้ออมเงินขณะที่ยังทำงานอยู่

ความเพียงพอของรายได้จากระบบบำเหน็จบำนาญ 

ปัจจุบันมีเพียงกลุ่มข้าราชการเกษียณเท่านั้นที่ได้รับบำนาญในระดับที่เพียงพอแก่การดำรงชีพ เฉลี่ยที่ 26,000 ต่อเดือน ขณะที่ระบบอื่นยังจ่ายบำเหน็จบำนาญน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 

แรงงานในระบบก็เผชิญความเสี่ยงจากเงินออมที่อาจไม่พอ

ปี 2566 แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 12 ล้านคน แม้มีโอกาสได้เงินบำเหน็จบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือนเมื่อเกษียณ แต่ลูกจ้าง 1 ใน 4 หรือ 3 ล้านคนเท่านั้นที่จะมีรายได้จากเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ซึ่งเป็นสวัสดิการภาคสมัครใจที่นายจ้างร่วมสมทบเงินออมเพิ่มเติมจากลูกจ้างสะสมเงินเอง  ปัจจุบันร่างกฎหมาย กบช. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ระบบเงินออมที่ไม่ควรมองข้ามคือความยั่งยืนของระบบบำนาญไทย 

การลดลงของประชากรวัยแรงงาน อาจส่งผลให้กองทุนบำนาญต่างๆ ประสบปัญหาสภาพคล่อง แม้จะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ แต่หากเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 47 ประเทศ จากผลการจัดอันดับระบบบำนาญ (Global Pension Index 2023)

โดย Mercer และ CFA Institute สะท้อนว่า ระบบบำนาญไทยยังต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ขยายความครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มอัตราการสมทบ และเพิ่มจำนวนเงินยังชีพขั้นต่ำ

ความท้าทายด้านสุขภาพ

ต้นทุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเป็นความท้าทายทั้งระดับครัวเรือนและระดับประเทศ จากข้อมูลของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนญี่ปุ่นจะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอายุ 50 ปี และจะเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงอายุถัดๆ ไป เช่นเดียวกับในกรณีของไทย

การศึกษาของ TDRI พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานต่อรายได้จะเพิ่มเป็น 2 เท่าเมื่อผู้สูงวัยมีอายุเพิ่มขึ้น 10 ปี แต่หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ภาระค่าใช้จ่ายจะยิ่งเร่งสูงขึ้น คือ ขณะที่ผู้สูงวัยมีอายุ 60-69 ปี ครัวเรือนจะเผชิญค่าใช้จ่ายราว 2% ของรายได้ แต่เมื่อมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป สัดส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 14.5% หรือเพิ่มกว่า 7 เท่า

แล้วเงินในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุมาจากแหล่งใด 

การสำรวจสิทธิการรักษาพยาบาลหลักของผู้สูงอายุ ปี 2564 พบว่า ผู้สูงอายุไทยอยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มากที่สุดถึง 81.9% รองลงมาคือสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 15% ส่วนผู้มีประกันสุขภาพส่วนบุคคลมีเพียง 0.3% เท่านั้น โดยในปี 2565 ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 6.3 ครั้ง หรือเกือบ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทุกช่วงวัย (3.5 ครั้ง) ซึ่งเป็นการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) อาทิ ความดันโลหิต เบาหวาน มากที่สุด ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยวัดจากจำนวนคนและจำนวนครั้งที่รับบริการ

ผู้สูงอายุเพิ่ม ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้นตาม 

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อขนาดเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 15% ของทั้งประเทศ ค่าใช้จ่ายที่สูงมาจากต้นทุนการดูแลผู้สูงอายุทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ 

กรณีของไทย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น 4.4% ของ GDP ในปี 2563 แม้ยังไม่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้สูงอายุและเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่ารายจ่ายสาธารณะด้านการดูแลสุขภาพ รวมกับรายจ่ายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อาทิ บำนาญข้าราชการ และเบี้ยยังชีพ จะมีสัดส่วนสูงถึง 11.5% ของ GDP ประเทศไทยในปี 2603 ต้นทุนดังมีแนวโน้มเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด

จากบทเรียนของญี่ปุ่นพบว่า ภายในเวลา 15 ปีหลังการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด อัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP เพิ่มจาก 7.7% ในปี 2549 เป็น 10.9% ในปี 2563 

ความท้าทายด้านการอยู่อาศัย

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ลำพังมากขึ้น และที่พักสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังเน้นรองรับกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง

ปัจจุบันที่พักสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ และเน้นรองรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง สะท้อนจากการสำรวจ โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (Real Estate Information Center: REIC) ในปี 2566 พบว่า โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการหรือไม่สามารถอยู่บ้านเดิมของตนเอง รองรับผู้สูงอายุได้สูงสุด 19,490 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1.2% ของจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือ โครงการส่วนใหญ่เหมาะกับกลุ่มผู้มีฐานะปานกลางค่อนข้างดีและฐานะดีขึ้นไป อีกทั้งยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงเกือบ 60%

ที่พักอาศัยที่มีจำนวนโครงการมากที่สุดคือ Nursing Home แต่อัตราการเข้าพักของโครงการรูปแบบนี้อยู่ที่เพียง 63.7% สาเหตุมาจากความไม่สอดคล้องของราคาและความสามารถในการจ่าย คือ เกือบ 80% ของ Nursing Home มีราคาอยู่ในช่วง 10,001-30,000 บาทต่อเดือน ส่วนโครงการที่ราคาไม่เกิน 10,000 บาทมีเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับผลสำรวจความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ค่าที่พักผู้สูงอายุที่พบว่า กว่า 22% ของผู้ตอบแบบสำรวจยินดีจ่ายไม่เกิน 10,000 บาท 

ที่พักประเภทสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิ มีอัตราการเข้าพัก 100% และมีความหนาแน่นของผู้พักสูงที่สุดถึง 103 คนต่อโครงการ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายน้อย สะท้อนว่าที่พักประเภทดังกล่าวยังมีน้อยกว่าความต้องการ (Undersupply) ในขณะที่บ้านพักเฉพาะผู้สูงอายุ (Residential) เช่น สวางคนิเวศ สภากาชาดไทย บุศยานิเวศน์ และโครงการเวลเนสซิตี้ มีอัตราการเข้าพักสูงรองลงมาที่ 73% เนื่องจากบางโครงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น

กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยยังคงมีแนวโน้มขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างมาก 

การสำรวจของ REIC ระบุว่าปัจจุบันที่อยู่อาศัยของภาครัฐบางแห่งมีผู้ลงชื่อรอขอเข้าอยู่อาศัยถึง 2,500-3,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับความสามารถในการรองรับผู้สูงอายุ (Capacity) ของที่พักประเภทสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิทั้งหมดราว 2,700 คน อาจกล่าวได้ว่ายังมีความต้องการส่วนเกิน (Excess Demand) สำหรับที่อยู่อาศัยของภาครัฐอีกจำนวนมาก

ความท้าทายด้านเทคโนโลยีและการเงิน

ผู้สูงอายุมีทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการทางการเงินดีขึ้น แต่ยังน้อยกว่าคนวัยอื่น

ชการสำรวจโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2566 พบว่า เกือบ 60% ของผู้สูงวัยในไทยเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยตอนต้น (อายุ 60-69 ปี) ที่มีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกินกว่า 70%

กว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุที่ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ให้เหตุผลว่าไม่มีความรู้หรือทักษะในการใช้  ไม่สนใจหรือไม่มีความจำเป็นที่จะใช้

ด้านการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล  แม้ 83% ของผู้สูงอายุจะใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน แต่ผู้สูงอายุ 8 ใน 10 คนยังพบปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล 

ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) มากที่สุด ทั้งบริการเงินฝาก การโอน และการชำระเงิน จากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการ และฐานะทางการเงินที่ไม่ดี นอกจากนี้ เมื่อทักษะด้านเทคโนโลยีกับข้อจำกัดด้านทักษะทางการเงิน จึงทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลได้น้อยกว่าคนวัยอื่นด้วย 

ข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) พบว่า ผู้สูงอายุไทยยังทำธุรกรรมออนไลน์น้อยกว่าคนวัยอื่นมาก สิ้นปี 2564 มีผู้สูงอายุเพียง 17% ที่ใช้บริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต (Mobile/Internet Payment) และสัดส่วนผู้ใช้งานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น  อีกทั้งผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีความถี่ของการใช้งาน e-Payment ต่ำที่สุด ในขณะที่กลุ่มอายุ 50-59 ปี ก็มีสัดส่วนผู้ใช้งานไม่ถึงครึ่ง