นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ผู้ใช้สารเสพติด โดยผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาททันทีทันใด หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น อาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบากหรือฟังไม่เข้าใจ อาการเห็นภาพซ้อนทันทีทันใด ความรู้สึกตัวผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นฉับพลันหรือทันทีทันใด
ผู้ป่วยหรือญาติควรต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที หรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอรับคำแนะนำหรือการช่วยเหลือ เพราะการที่ผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลเร็วมากแค่ไหน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดอัตราการเกิดความทุพลภาพได้อีกด้วย
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งโรงพยาบาลของรัฐขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สามารถให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดตีบ อุดตัน หรือแตกได้ตามมาตรฐาน
โดยผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองและเข้ามารับการตรวจรักษาทันเวลา จะได้รับการตรวจร่างกายและตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หากตรวจพบว่าเป็นชนิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันที่เข้าเกณฑ์ จะได้รับการรักษาด้วยยาฉีดละลายลิ่มเลือดในทันที
และหากได้รับยาฉีดละลายลิ่มเลือดแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีข้อห้ามในการให้ยาฉีดละลายลิ่มเลือด และตรวจพบว่าเป็นการอุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ จะได้รับการประเมินเพื่อให้การรักษาด้วยการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดในลำดับต่อไป
โดยทุกโรงพยาบาลในเครือข่ายจะสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดำเนินการในลำดับที่สูงขึ้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนที่เข้าเกณฑ์ได้รับการรักษาตามมาตรฐานไม่ว่าจะอยู่ที่ภูมิภาคไหนของประเทศไทยก็ตาม
เพราะเวลาทุกวินาที มีความสำคัญต่อเซลล์สมอง เมื่อโรงพยาบาลเครือข่ายมีความพร้อมในการให้การดูแลและประสานส่งต่อแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนผู้รับบริการต้องมีความตระหนักรู้และสามารถพาตนเองหรือคนที่รัก ไปถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้ทันเวลา เพราะโรคหลอดเลือดสมอง เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต