มองต่างมุม ‘กัญชากลับสู่ยาเสพติด’ ต้องเดินหน้าแบบมีเงื่อนไข

21 พ.ค. 2567 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 02:36 น.

หลังจากปลดล็อคเรื่อง “กัญชา” ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการลงทุนและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ล่าสุดนายกฯมีคำสั่ง ดึง “กัญชา” กลับสู่บัญชียาเสพติดภายในสิ้นปีนี้ สธ.ยอมรับ จะต้องแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศ โดยมีเงื่อนไข

ต้องยอมรับว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับได้ปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลกัญชา จากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เป็นสมุนไพรควบคุม ก็เกิดการลงทุนในธุรกิจกัญชาเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะในทาง การแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ฯลฯ

แต่เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ดึง “กัญชา” กลับสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 ภายในสิ้นปี 2567 และให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ก็มีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจชุมชน และเอกชนทั่วไปที่ควักเงินก้อนโตลงทุนทั้งการเพาะปลูก สกัด และผลิตเป็นสินค้าออกไปแล้ว รวมถึง “เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” ที่ต่างเรียกร้องให้นำพ.ร.บ.กัญชา มาใช้ควบคุม แทนการหักดิบ ด้วยวิธีดัน “กัญชา” กลับไปเป็น “ยาเสพติด”

“ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย แสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้อย่างน่าสนใจว่า หลังประเทศไทยปลดล็อคกฎหมายให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา-กัญชงได้ จึงมีใบอนุญาตทั้งใบอนุญาตที่ต้อง MOU กับหน่วยงานต่างๆ และใบอนุญาตที่สามารถปลูกใช้ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้แท้จริงแล้วจะไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านใบอนุญาต เบื้องต้นคาดการณ์ว่าน่าจะปลูกจริงอยู่ 70% เพราะต้องลงทุนสูงและดูแลระบบการปลูกอย่างดีจึงจะให้ผลผลิต และใบอนุญาตขอเป็นผู้ขายประมาณ 1 หมื่นใบอนุญาต ซึ่งเกิดการซื้อขายจากผู้ผลิตไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจ นำไปแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีจำนวนมากเรียกได้ว่ากัญชาช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล

มองต่างมุม ‘กัญชากลับสู่ยาเสพติด’ ต้องเดินหน้าแบบมีเงื่อนไข

“หากมี พ.ร.บ. กัญชาออกมาควบคุมโดยตรงจะเกิดผลดีมากกว่าแน่นอน เพราะเมื่อกัญชาถูกปรับกลับไปเป็นสารเสพติด จะเกิดผลกระทบรุนแรง ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ 2. เกิดการผูกขาด ผู้ประกอบการที่อยู่ได้จะมีเพียงกลุ่มที่ MOU กับสถาบันการศึกษา สถาบันการแพทย์ ซึ่งมีไม่กี่รายในประเทศ และ 3. ระบบการปลูกกัญชาไทยจะล้าหลัง ไม่เกิดการพัฒนาเท่าทันต่างประเทศ เกิดผลกระทบระยะยาว นอกจากนี้ ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์และยังคงใช้กัญชาจะได้รับผลกระทบหากกลไกลการปลูกจะไม่ปลอดภัย การใช้กัญชาก็ไม่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน”

เมื่อ “กัญชา” ต้องถูกดันกลับไปเป็น “ยาเสพติด” วันนี้เครือข่ายฯ และผู้ประกอบการจึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์และศึกษาอย่างรอบคอบ อยากให้เปรียบเทียบถึงผลดี ผลเสียของกัญชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้านที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพประชาชน

“การนำกฎหมายเข้ามาควบคุม ไม่จำเป็นต้องผลักดันให้กัญชากลับไปเป็นสารเสพติด เพราะจะกระทบกับประชาชนหลายภาคส่วน ปิดประตูธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท เกิดการผูกขาด สร้างเม็ดเงินในวงแคบ และสุดท้ายกัญชาก็จะกลายสภาพเป็นธุรกิจที่อยู่ในลักษณะเดียวกันกับเหล้าและเบียร์ การควบคุมกฎหมายโดยพ.ร.บ. จะเป็นประโยชน์ มากกว่าการนำกลับเข้าไปสู่การเป็นยาเสพติด”

เมื่อมีฝ่ายต้าน ก็ต้องมีฝ่ายหนุนล่าสุดเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติดได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประเภท 5 และการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้นถึงนายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” พร้อมเร่งให้ออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

เมื่อมีคำสั่งมาแน่นอนว่า การเดินหน้านำ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 จึงเกิดขึ้นโดย “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองออกมายอมรับว่า การจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 จะต้องแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพราะกัญชาถูกควบคุมตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ช่อ ดอก กัญชา สารสกัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นเส้นใย เมล็ด หรือควบคุมการปลูกกัญชา หรือจัดรายงานที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ปลูก การนำเข้า สิ่งที่ต้องทำคือ การออกกฎกระทรวง ได้แก่ การปลูก การเก็บ การรักษา ซึ่งต้องมีการพูดคุย กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา รวมทั้งการออกประกาศให้แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน แพทย์เฉพาะทาง สามารถสั่งใช้ “กัญชา” เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพได้ด้วย ถือเป็นเงื่อนไขที่น่าจับตามอง

ชั่วโมงนี้ แนวทางการนำ “กัญชา กลับไปสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5” ก็ไม่ใช่ทางตันซะทีเดียว เมื่อสาธารณสุขยังเปิดช่องให้บ้าง ขอเพียงทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน ร่วมกันผ่าทางตันให้กับ “กัญชา” และ “สังคมไทย”