16 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายกัญชาเกือบ 100 คนนำโดยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกรณีการนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดโดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1.กัญชาควรควบคุมด้วยกฎหมายรูปแบบไหน ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ กัญชา สามารถควบคุมโดยการออกกฎหมายระดับสูงสุดเพื่อควบคุมเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพซึ่งก็คือ กฎหมาย "พระราชบัญญัติกัญชา" หรือ จะควบคุมโดยกฎหมาย "ยาเสพติด" การควบคุมด้วยกฎหมายทั้ง 2 รูปแบบมีความแตกต่างกัน คือ
แบบแรก คือ การควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติด เท่ากับเอากัญชาไปขังคุกและจะทำกติกาให้กลุ่มเฉพาะเท่านั้นที่ปลูกได้เพื่อรองรับมูลค่ากัญชาหลายหมื่นล้านบาท
"การควบคุมด้วยกฎหมายยาเสพติด คือ การปิดโอกาสในการใช้ประโยชน์ของประชาชนและการควบคุมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็จะกระทำไม่ได้เพราะจะเกิดกัญชาใต้ดินเต็มไปหมดและนี่คือเหตุผลที่ประเทศเยอรมนีเลือกใช้กฎหมายปกติในการควบคุมเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า" นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
แบบที่สอง คือ การควบคุมโดยกฎหมายพระราชบัญญัติ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การควบคุมเพื่อดึงข้อดีมาใช้และควบคุมข้อเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติสามารถวางรากฐานการพัฒนาเชิงระบบทั้งการผลิต แปรรูป วิจัยและพัฒนา
อีกทั้งจะสามารถออกแบบกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ได้
การที่รัฐบาลจะนำกัญชาไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดเท่ากับแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการกลไกที่มีประสิทธิภาพแต่ต้องการกลไกที่สามารถใช้อำนาจควบคุมและทำให้การปลูกกัญชาอยู่ในกลุ่มของตัวเองและกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง
เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยและภาคีจึงเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า กระบวนการจัดทำนโยบาย กัญชาต้องควบคุมด้วยกฎหมายที่มีประสิทธิภาพคือพระราชบัญญัติ
2.มีข้อเท็จจริงใหม่อันใดที่ร้ายแรงอย่างยิ่งจึงต้องเอากัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด
ทั้งนี้ ทั้งที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองของกรรมการทุกชุดและผ่านความเห็นชอบในหลักการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ฉะนั้น การนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดต้องมีข้อเท็จจริงใหม่โดยขอให้ยึดถืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ อย่าเอาข้อมูลที่ "มโนเอาเอง" มาใส่ในการเปรียบเทียบครั้งนี้
3.ตามคำสั่งของนายกฯ อ้างคำสัมภาษณ์ของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายถึงให้เอากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ให้ไปศึกษาว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดผลดีผลเสียอย่างไร หากมีผลเสียมากกว่าก็ให้นำกลับไปสู่บัญชียาเสพติด หากไม่ได้มีผลเสียหายอะไรก็ไม่ต้องนำกลับไป
ขอเสนอให้ตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบและนำข้อมูลนั้นมาตัดสินใจในการกำหนดนโยบายกัญชา กรรมการร่วมดังกล่าวจะต้อง ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ และจะต้องนำเสนอข้อมูลนี้ต่อสาธารณะให้รับทราบโดยทั่วกัน
เครือข่ายฯ ขอให้กระทรวงปฏิบัติตามกำหนดเวลาในการจัดทำข้อเท็จจริงโดยเปรียบเทียบระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา โดยขอให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567
นอกจากนี้ยังต้องทำข้อมูลกัญชาเชิงระบบโดยกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการภายใน 3 เดือน โดยระยะเวลาดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการได้ข้อมูลและไม่ล่าช้าจนเกินไปในการดำเนินการให้มีกฎหมายควบคุมกัญชา
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายกัญชา จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 28 พ.ค.นี้