"ภูมิแพ้-โรคหืด" คร่าชีวิตคนไทยกว่า 400 คน/ปี สูงกว่าญี่ปุ่น อเมริกา

22 พ.ค. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2567 | 08:04 น.

องค์การอนามัยโลกระบุ ปี 2562 พบผู้ป่วยโรคหืดทั่วโลก 262 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 4.5 แสนคน ขณะที่ประเทศไทยเสียชีวิตมากกว่า 400 คนต่อปี

รศ.นพ.ฮิโรชิ จันทาภากุล นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคหืดเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ในปี 2562 มีผู้ป่วยโรคหืดทั่วโลก 262 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรจำนวนมากกว่า 4.5 แสนคน ส่งผลให้โรคหืดเป็นโรคที่สังคมควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดที่เสียชีวิตจากการกำเริบเฉียบพลันมากกว่า 400 คนต่อปี ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นที่มีประชากรมากกว่าประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา แม้ประเทศไทยจะมีแนวทางการรักษาโรคหืดทั้งแพทย์และทรัพยากรในการดูแลผู้ปวยโรคหืดเพียงพอก็ตาม

“โรคหืด” เกิดจากภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งจากสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อ หรือมลพิษทางอากาศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพัก ๆ ส่งผลให้เกิดอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบากตามมา อาการบ่งชี้ของโรค เช่น ไอเป็นชุด ๆ แน่นหน้าอก หายใจหอบ หายใจเสียงดังวี้ด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น มลพิษทางอากาศ สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส หรือการออกกำลังกาย 

โดยโรคหืดเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ และสามารถรักษาเพื่อควบคุมอาการ และป้องกันการเกิดหืดกำเริบเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ใช้ยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนั้นมีโอกาสหายขาดได้ ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า “โรคหืด” เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือสามารถหยุดยาได้เมื่อไม่มีอาการกำเริบ ทำให้ผู้ป่วยขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยารักษา ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง

สำหรับผู้ป่วยโรคหืดชนิดรุนแรง (Severe Asthma) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ (Biologics) ที่มีความจำเพาะเจาะจงในการต้านกลไกการเกิดโรค และให้ผลการรักษาที่ดีต่อคนไข้โรคหืดชนิดรุนแรงนั้น ทางกรมบัญชีกลางได้ประกาศอนุมัติให้ผู้ป่วยข้าราชการสามารถใช้สิทธิ์ในการรักษาได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับคนไข้โรคหืดชนิดรุนแรง 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการรักษาอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการได้ อาทิ การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การเลิกสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การฝึกหายใจ การลดความเครียดทางอารมณ์ และจิตใจ และการลดน้ำหนัก ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรติดตามอาการของตนเอง และฝึกสังเกตอาการโดยมีแผนการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อควบคุมอาการของโรคหืด และหากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นอันตรายควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างทันท่วงที

\"ภูมิแพ้-โรคหืด\" คร่าชีวิตคนไทยกว่า 400 คน/ปี สูงกว่าญี่ปุ่น อเมริกา

ทั้งนี้ ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด และพร้อมให้การสนับสนุนสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคีองค์กรต่างๆ โดยร่วมกันริเริ่มโครงการ Breathe Easy, Live Fully: Towards Zero Asthma Deaths “หายใจสบาย, ใช้ชีวิตเต็มที่: ผู้ป่วยโรคหืดต้องไม่เสียชีวิต” เพื่อร่วมยกระดับประสิทธิภาพการรักษาโรคหืดในประเทศไทย โดยการรวบรวมและติดตามข้อมูลของผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนร่วมกับภาคีองค์กรต่างๆ พร้อมเสนอแนวทาง ในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดให้เหลือน้อยที่สุด โดยคาดหวังให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดในประเทศไทยลดลงเหลือศูนย์ในระยะเวลาภายในสิบปี