ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมีแนวโน้มเติบโต เห็นได้จากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้ง 24 บริษัทที่มีผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 มีอัตราการเติบโตทุกโรงพยาบาลและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากคนไข้คนไทยที่เข้ามาใช้บริการ และคนไข้ต่างชาติในกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) โดยคนไข้ต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการหลักๆ มาจากประเทศตะวันออกกลางและประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลุ่มประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมั่นใจในระบบการแพทย์ของไทย ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตไปตามนโยบายการเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub)
“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้มีผู้ป่วยผู้สูงอายุมากขึ้น และป่วยกลุ่มโรค NCDs เป็นจำนวนมาก แนวโน้มเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในโรงพยาบาลเอกชนก็มีหลายระดับตามกำลังซื้อของแต่ละกลุ่ม และเข้ามารับบริการผ่านการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นรวมถึงผ่านประกันสังคมกับประกันกลุ่มจากบริษัทต้นสังกัด ทำให้ตัวเลขของโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเติบโตขึ้นทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ เพราะมีความรวดเร็วในการรักษาทั้งผู้ป่วยนอก (OPD: Out-Patient Department) และผู้ป่วยใน (IPD: In-Patient Department) ส่วนที่เป็นลูกค้าเป็นชาวต่างชาติแต่ละโรงพยาบาลจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของโรงพยาบาลและแนวทางการรักษาโรคของผู้ป่วยด้วย”
สำหรับผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาที่มีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าจับตามองได้แก่ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีรายได้รวม 2,865 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.4% มีกำไรสุทธิ 318.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.6% จากผู้ป่วยนอก (OPD) เพิ่มขึ้นและรายได้จากโรงพยาบาลแห่งใหม่ทั้ง 3 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง ศูนย์สูตินารีเวช เป็นต้น
ด้านนายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ผลประกอบการของ THG ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวม 2,337 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิสำหรับบริษัทใหญ่อยู่ที่ 6.4 ล้านบาท ทั้งรายได้และกำไรชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนสนับสนุนธุรกิจในอนาคตหลายโครงการทั้งแบบลงทุนเองและร่วมทุนกับพันธมิตร โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ กำไรตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นต้นไป อาทิ ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยและความงาม Jin Wellness by THG สาขาสยามพารากอน ที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ทั้งอยู่ระหว่างเร่งขยายพื้นที่ให้บริการในโรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา และโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคหลายแห่ง
คาดว่าช่วงไตรมาส 2 -3 จะทยอยเปิดพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติมได้ สำหรับ ศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Health and Wellness Clinic ณ โฮจิมินห์ เวียดนาม ซึ่งก่อสร้างคืบหน้ามากแล้วก็เตรียมเปิดให้บริการต้นไตรมาส 3 ปีนี้เช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทกำลังทำแผนปรับโครงสร้างเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิการดำเนินงาน ควบคู่กับการเตรียมแผนการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจให้เติบโตและมีผลประกอบการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการและรองประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวว่า บริษัทมีรายได้ 1,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 26% โดยผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องมาจากการขยายฐานผู้รับบริการในรพ.ในเครือ ทำให้มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกแห่งจากการพัฒนาศักยภาพในการรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคซับซ้อนต่อเนื่อง รวมทั้งการกระจายการลงทุนธุรกิจเฮลท์แคร์โดยเฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
ล่าสุดเข้าลงทุนในบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด (BACKYARD) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการด้าน Digital Transformation, Digital Enterprise Solution และด้านปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) เพื่อสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์หลักในการมุ่งสู่ HealthTech Company ตามแผนงานที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์
ส่วนแผนการขยายการลงทุนธุรกิจรพ. PRINC ทุ่มงบประมาณ 700 ล้านบาทเข้าซื้อโรงพยาบาลเพิ่ม 3 แห่งจากบริษัท มาย ฮอสพิทอล จำกัด (MY HOSPITAL) ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราษฎร์, โรงพยาบาลราชสีมา ฮอสพิทัล และโรงพยาบาลพิษณุโลก ฮอสพิทัล คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พร้อมรับรู้รายได้ทันทีภายในปีนี้ โดยบริษัทยังคงมีเป้าหมายในการขยายโรงพยาบาลอยู่ที่ 20 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 18 แห่งใน 14 จังหวัด มีการดำเนินการแล้ว17 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีฐานผู้รับบริการที่มากขึ้น รวมทั้งจะทำให้การดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนผ่านรูปแบบ Shared Services มีความโดดเด่นและมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวม 26,938 ล้านบาท เติบโต 11% มีกำไร 4,074 ล้านบาท เพิ่ม 17% เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วนบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH มีรายได้ 6,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% มีกําไรสุทธิ 1,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4%
บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG มีรายได้ 2,021.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% มีกำไรสุทธิ 264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% บริษัท โรงพยาบาลเอกชล จำกัด (มหาชน) หรือ AHC มีรายได้รวม 446.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 % มีกำไรสุทธิ 27.70 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 34% จากการลงทุนปรับปรุงรีโนเวทหอพักผู้ป่วยใน ห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) รวมทั้งค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนพนักงาน ต้นทุนประกันสังคมที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ และ บริษัท แพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG มีรายได้ 566.72 ล้านบาท เติบโต 16.80% มีกำไร 66.50 ล้านบาท เติบโต 49.38%
อย่างไรก็ดี ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนหลังยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากการลงทุนและการเพิ่มขึ้นของผู้มาใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติ