ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “โรงพยาบาลเอกชน” ฟื้นตัวและกลับมาเติบโต เทียบเท่ากับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับการผลักดันให้ไทยก้าวสู่ Medical Hub การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เต็มรูปแบบ ด้วยการเปิดรับผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างนำเสนอนวัตกรรมด้านการแพทย์ รวมถึงบริการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalized Healthcare ตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ
ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเชนฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมระบบสุขภาพพื้นฐานของประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนของค่อนข้างสูง คาดว่ามีจำนวนหลายแสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 5-10% ต่อปี ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งจากบริษัทประกัน, จากสิทธิบัตรทอง, สิทธิประกันสังคม, สิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งมีงบประมาณการรักษาหลายหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ใช้เงินสดจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเองอีกเป็นจำนวนมาก
โดยมีโรงพยาบาลรัฐราว 1,000 แห่ง มีเตียงรวมกันประมาณ 1.6 แสนเตียง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนมีทั้งหมดประมาณ 400 แห่ง มีจำนวน 4 หมื่นเตียง หรือคิดเป็น 30% ของระบบโรงพยาบาลในประเทศไทย มีทั้งโรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดใหญ่แตกต่างกัน โรงพยาบาลขนาดกลางส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 100 เตียง หากเกิน 100 เตียงจะเรียกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แบ่งรูปแบบออกเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลเครือข่าย ซึ่งโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมักจะได้เปรียบมากหากมองในมุมของธุรกิจ
ผลประกอบการในไตรมาส 1 ของโรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีระบุตัวเลขออกมาชัดเจน แต่หากประเมินจากบริษัทที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์จำนวน 24 บริษัท คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทุกโรงพยาบาล และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องและเห็นได้ว่าหุ้นโรงพยาบาลคือหุ้น Defensive Stock เป็น “หุ้นมั่นคง” หรือหุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ และจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ
ฉะนั้นสถานการณ์ของปี 2567 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากคนไข้คนไทย เฉลี่ยคนไข้จากต่างชาติของแต่ละโรงพยาบาลน่าจะประมาณ 10% มาในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ราว 6-8% และกำลังเติบโตไปตามนโยบายการเป็น Medical Hub ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ สงครามในต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อได้
สำหรับลูกค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับบริการโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย หลักๆ เป็นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลุ่มประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมั่นใจในระบบการแพทย์ของไทย ส่วนประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะใช้บริการระบบการแพทย์ของไทยเฉพาะที่อยู่ใกล้พื้นที่ของตัวเอง
นอกจากนี้ ทิศทางการเติบโตโรงพยาบาลเอกชนของไทยจะอยู่ในลักษณะการขยายเครือข่าย เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดเดิม และการลงทุนจะถูกวิเคราะห์มาอย่างดีว่าจะเพิ่มหรือลดในตลาดไหนบ้าง โดยการขยายตัวแบบเครือข่ายถือว่ามีศักยภาพสูงมากกว่าการก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีโรงพยาบาลเครือข่ายอยู่ 15-20 โรงพยาบาล ซึ่งสัดส่วนของการเติบโตในแต่ละโรงพยาบาลจะขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ และสุดท้ายก็ต้องมาดูที่กำไรสุทธิว่าจะมากหรือน้อย
ปีที่ผ่านมาผลประกอบการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าผ่านช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 มาได้แล้ว และกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ตัวเลขผลประกอบการหรือรายได้ของแต่ละโรงพยาบาลมักถูกเปรียบเทียบกับปี 2562 โดยไม่นับช่วงที่เกิดโควิด-19 จึงถือว่ามีอัตราการเติบโตขึ้นทุกโรงพยาบาล ทุกกลุ่ม รวมถึงเครือข่ายด้วย ซึ่งปี 2566 สัดส่วนของคนไข้และรายได้ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีฐานลูกค้าจาก 1.ประกันชีวิต 2.ประกันสังคม และ 3.ชาวต่างชาติ
ข้อสังเกตในปี 2566 คือ ยังมีผู้ป่วยโควิด-19 แต่สถานการณ์กลายเป็นปกติเพราะคนไม่กลัวโควิด-19 แล้ว จำนวนคนไข้เงินสดจึงทยอยกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้มีอัตราการเติบโตทั้งผู้ป่วยนอก (OPD: Out-Patient Department) และผู้ป่วยใน (IPD: In-Patient Department) ส่วนผู้ป่วยต่างชาติก็ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากการเปิดประเทศ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติในสัดส่วนที่แตกต่างกัน
“เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้ มีผู้ป่วยที่เป็นคนไทยอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น และป่วยกลุ่มโรค NCDs เป็นจำนวนมาก ตัวเลขของโรงพยาบาลเอกชนน่าจะเติบโตขึ้นทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ เพราะความรวดเร็วในการรักษาผู้ป่วยกับเรื่องบริการถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ”
ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า วันนี้คู่แข่งของประเทศไทยคือประเทศสิงคโปร์-มาเลเซีย แต่ในประเทศไทยมีปัจจัยบวกที่สามารถดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติได้มากกว่า คือ 1. ประเทศไทยมีนวัตกรรมทางการแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ 2. หากเทียบค่าใช้จ่ายในการให้บริการและการรักษา ประเทศไทยจะถูกกว่า 25-30% 3. ที่ตั้งของประเทศไทยจะอยู่ในลักษณะคล้ายฮับทางการบินในภูมิภาค สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย ฉะนั้นตอนนี้โรงพยาบาลในไทยถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ไม่เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติเลย เพราะการเตรียมองค์กรเพื่อรับคนไข้ชาวต่างชาติต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการสื่อสารทางด้านภาษา ที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้ แต่โรงพยาบาลบางแห่งก็ใช้วิธีติดต่อประสานงานผ่านเอเจนซี่ หรือไปลงทุนในต่างประเทศและหาตลาดใหม่เลย
“แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคของลูกค้าคนไทย จะมีหลายระดับตามกำลังซื้อของแต่ละกลุ่ม แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของโรงพยาบาลที่กำหนดแนวทางการรักษาโรคของกลุ่มผู้ป่วยด้วย แต่คนไทยที่เข้ามารับบริการการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็มักใช้จ่ายผ่านการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย หรือผ่านประกันสังคม กับประกันกลุ่มจากบริษัทต้นสังกัด” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในตอนท้าย