CEO ใหม่โชว์วิชั่น ยกระดับ ‘รพ.ธนบุรี’ บำรุงเมือง

21 มิ.ย. 2567 | 07:08 น.
อัพเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 07:29 น.

เปิดวิสัยทัศน์ “ดร.นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก” CEO คนใหม่ ชูจุดแข็งระบบสุขภาพไทย ยกระดับ “รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง” สู่ความเป็นเลิศด้านการแพทย์เฉพาะทาง

หากพูดถึงธุรกิจการแพทย์ของประเทศไทยในเวลานี้ หลายโรงพยาบาลต่างเร่งพัฒนาศัยภาพตามเทรนด์สุขภาพที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน และหนึ่งในนั้นคือ “โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง” ที่เดินหน้าพร้อมบุกตลาดเต็มกำลัง ภายใต้การนำทัพของ CEO ใหม่ “ดร.นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก” ที่เข้ารับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญจากผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐมาสู่ภาคเอกชน

“ดร.นพ. พิทักษ์พล” เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนหน้านั้นเคยเป็นผู้บริหารอยู่กระทรวงสาธารณสุข ตำแหน่งล่าสุดก่อนสิ้นสุดวาระการทำงานคือ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาทำงานกับโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เป็นการทำงานเชิงบริหารในภาคเอกชนเป็นแห่งแรก แม้อดีตจะเคยทำงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนมาแล้วก็ตาม โดยวิสัยทัศน์ส่วนตัวคิดว่าการทำงานเกี่ยวกับระบบสุขภาพจะเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญมาก ไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศ และจากประสบการณ์ทำให้มองเห็นทั้งสองระบบแล้วนำมาปรับใช้กับการบริหารงานได้เป็นอย่างดี

โดยโรงพยาบาลของภาครัฐมีจุดแข็งในการควบคุมเรื่องงบประมาณที่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีอากร มีเครือข่าย และกฎหมาย แต่ข้อจำกัดที่เป็นจุดอ่อนคือ กฎระเบียบ การทำงานหรือการบริหารงานด้านต่างๆ จึงมีความล่าช้า และภายใต้ข้อจำกัดนี้ไม่สามารถดำเนินการทำงานบางอย่างได้ ในขณะที่โรงพยาบาลภาคเอกชนมีจุดแข็งด้านความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อตอบสนองต่อปัญหาด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเรื่องกองทุนก็สามารถเติมเต็มเข้ามาได้ เช่น สามารถขยายการให้บริการด้านสุขภาพได้มากกว่าเดิม ทั้งจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสำนักงานประกันสังคม เพิ่มทางเลือกให้กับผู้เข้ารับบริการ และช่วยลดความแออัดในสถานบริการของภาครัฐ

CEO ใหม่โชว์วิชั่น ยกระดับ ‘รพ.ธนบุรี’ บำรุงเมือง ส่วนนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างโรงพยาบาลของภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันมาตลอด ซึ่งภาครัฐมักมองเสมอว่าจะทำอย่างไรให้สามารถบริการด้านสุขภาพของประชาชนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการรักษาพยาบาลและการป้องกัน พยายามกระจายการบริการอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล ส่วนภาคเอกชนก็เน้นให้บริการคุณภาพ ให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่าตอนนี้โรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชนมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นๆ และสัดส่วนรายได้ประชาชาติของประเทศไทย ที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเติบโตเฉลี่ยขึ้นทุกปี สถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้น 6-7% ต่อปี ทำให้การบริการมีจุดแข็งพร้อมเป็น Medical Hub ในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล โดยองค์การอนามัยโลกก็ให้การยอมรับในเรื่องการจัดระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย ถ้าผนึกกำลังกับแนวทางการหารายได้เข้าประเทศในหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยว จะกลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) สร้างรายได้ให้ประเทศค่อนข้างสูงและสามารถแข่งขันได้”

“ดร.นพ. พิทักษ์พล” กล่าวว่า จากสถิติการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา 50% อีก 50% คือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย หากต่อยอดสินค้าและบริการด้านนี้ จะสามารถขยายธุรกิจในอนาคตได้อีกมาก โดยภาคเอกชนได้ประเมินการเติบโตไว้ 8-10% ต่อปี

สำหรับโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีจุดแข็งอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1. ทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นโรงพยาบาลดั้งเดิมที่อยู่ใกล้เขตเยาวราช สำเพ็ง ตลาดค้าขาย มีชุมชนรอบข้างมีความหนาแน่น 2. มีสถาปัตยกรรมและการออกแบบค่อนข้างดี พื้นที่กว้างขวาง ทันสมัย 3. มีทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้มแข็ง แพทย์และพยาบาลเฉพาะทางรวมกว่า 500-700 คน สามารถให้บริการเป็นเลิศในด้านต่างๆ ได้หลากหลาย มีกลุ่มลูกค้าทุกระดับ และที่นิยมมาใช้บริการมากสุดคือระดับกลาง-ระดับบน แบ่งเป็นคนไทยเฉลี่ย 50% และต่างชาติ 50% ส่วนใหญ่จากประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ CLMV (กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว)

“เรามีความโดดเด่นหลายด้าน แต่ที่ได้รับความนิยมคือ ศูนย์เบาหวาน, ศูนย์กระดูกและข้อ รวมถึงศูนย์ทันตกรรมด้วย เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ให้บริการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ยังเน้นไปในด้านการมีสุขภาวะที่ดี มีศูนย์เวลเนส บริการด้านความงามการชะลอวัย ฯลฯ”

“ดร.นพ. พิทักษ์พล” กล่าวว่า โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์เฉพาะทางให้มากขึ้น ในปี 2567 จะเน้นการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นหลายสาขา ด้วยความร่วมมือจากคณะแพทย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อีกส่วนคือขยายขอบเขตการบริการเรื่องเวลเนส โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มอีก และเพิ่มผู้เข้ารับบริการที่เป็นคนไทยในพื้นที่ใจกลางเมืองมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับแพ็คเกจให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น คาดการณ์ไว้ว่าในภาพรวมทั้งหมดจะเติบโตขึ้นประมาณ 10% หรือไม่น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง อัตราการเติบโตจากบริษัทประกันก็สูงขึ้น โดยเฉพาะการประกันของผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่เข้ามารองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ฉะนั้นวิธีการของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จะใช้กลยุทธ์ให้บริการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้บริการในลักษณะองค์รวมที่คล้ายกับโรงพยาบาลอื่น และตลาดเฉพาะทางมีอยู่หลากหลาย นอกจากนี้ยังวางแผนพูดคุยกับประกันสังคมและกองทุนต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม เรายังมีจุดอ่อนคือภาพลักษณ์ที่มักจะถูกมองว่าให้บริการชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย มีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่แท้จริงแล้วราคาไม่สูงมาก เฉลี่ยเท่ากับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนและคนในชุมชนรับรู้มากขึ้น ต้องทำการตลาดมากกว่าในอดีต เพราะโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งล้วนมีบทบาทสร้างสุขภาพที่ดีให้ประชาชน เป็นหนึ่งธุรกิจที่สามารถส่งเสริมการทำงานกับภาครัฐ แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะจริงจังกับนโยบายมากน้อยแค่ไหน เพราะทรัพยากรด้านสุขภาพของประเทศไทยสามารถผลักดันไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ได้ทันที ด้วยจุดแข็งทั้งความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ การบริการ และโครงสร้างของระบบสาธารณสุข”