นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต–เทพธารินทร์ กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลวิมุต–เทพธารินทร์ เป็นต้นแบบโรงพยาบาลด้านการดูแลโรคเบาหวาน ได้ริเริ่มโครงการ คุม D(M) Challenge ลดได้ คุมดี มีรางวัล ในปี 2566 รับสมัครผู้เป็นเบาหวานเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อขยายโอกาสในการรับบริการของผู้เป็นเบาหวานที่มีจำนวนมากขึ้น และสนับสนุนให้มีความรู้ในการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับคำปรึกษาเพื่อวางแผนการดูแลตนเองและตั้งเป้าหมายร่วมกับแพทย์ พร้อมรับรางวัลหากทำได้สำเร็จ และมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 265 ราย ถือว่าได้รับผลตอบรับดี
จากรายงานสถิติผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยพบว่ามีอุบัติการณ์โรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งจากตัวเลขที่สูงขึ้นอาจบ่งชี้ได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดโอกาสรับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น โรงพยาบาลวิมุต–เทพธารินทร์จึงจัดกิจกรรมต่อเนื่องอีกครั้งในปี 2567
“โดยการทำงานของโรงพยาเราไม่ใช่เพียงแค่การดูแลรักษาเท่านั้น แต่การดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ถือเป็นหนึ่งภารกิจที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งต้องการสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อเดินหน้าป้องกันโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมไปถึงการดูแลรักษา และให้คำแนะนำในการปรับไลฟ์สไตล์ประจำวัน เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข”
นพ.เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ ผู้อำนวยการสายงาน ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อเทพธารินทร์ กล่าวว่า โครงการคุม D(M) Challenge ลดได้ คุมดี มีรางวัล ประจำปี 2567 เปิดรับสมัครผู้เป็นเบาหวานทุกชนิด (ยกเว้นผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์) ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2567 มีกติกา ดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายที่กำหนดโดยแพทย์ประจำตัว อาทิ การควบคุมน้ำตาลเฉลี่ยละสม ความดัน ไขมัน และการเลิกบุหรี่
2. รับการตรวจภาวะแทรกซ้อนเบาหวานครบภายในปี อาทิ ตรวจตา ตรวจไต ตรวจเท้า ตรวจหัวใจ
3. รับคำปรึกษาจากทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน นักกำหนดอาหาร หรือเข้าร่วมอบรมมาตรฐานการให้ความรู้และสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้เป็นเบาหวาน (DSMES)
ทั้งนี้ โครงการ คุม D(M) Challenge ลดได้ คุมดี มีรางวัล เป็นไปตามมาตรฐานในการดูแลผู้เป็นเบาหวานที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการดูแลตนเอง ซึ่งประกอบไปด้วยการควบคุมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ น้ำตาลสะสม (A1C) ความดันโลหิต (BP) ไขมันในเลือด (LDL-C) รวมทั้งการงดสูบบุหรี่ (Smoking) และต้องได้รับการตรวจภาวะแทรกซ้อนจากตา ไต เท้า และหัวใจ รวมถึงการพบทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน (diabetes educator) นักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้า และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย
ทั้งหมดทำงานประสานกันเป็นทีม พร้อมดูแลด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ และร่วมหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้เป็นเบาหวานแต่ละราย อีกทั้งในโครงการยังได้จัดกิจกรรมมาตรฐานการให้ความรู้และสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้เป็นเบาหวาน (DSMES) เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง ชะลอโรคแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี