บอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์บริหาร กองทุนบัตรทอง ปี 68 

04 ก.ค. 2567 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 05:51 น.

บอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2568 จัดสรรงบขาลง 1.67 แสนล้านดูแลประชาชนใช้ "สิทธิบัตรทอง" อย่างต่อเนื่อง เพิ่มสิทธิประโยชน์ ปรับเพิ่มงบบริการการแพทย์แผนไทย เป็น 31.90 บาท/ประชากร

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2567 ครั้งล่าสุดโดยมีวาระพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2568

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรณี สปสช. ได้รับจัดสรรงบประมาณ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ปีงบประมาณ 2568 จากรัฐบาล 235,842.80 ล้านบาท หรืออัตราเหมาจ่าย 3,844.55 บาท/ประชากร

ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ 68,089.63 ล้านบาทและเป็นงบประมาณที่ สปสช. นำมาบริหารจัดการ 167,753.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 15,014.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการจัดสรรงบเพื่อลงสู่บริการประชาชนในแต่ละปีนั้นจะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การดำเนินการและการบริหารจัดการงบประมาณและออกประกาศรองรับก่อนซึ่งปีงบประมาณ 2568 สปสช.ก็ได้มีการระดมความคิดเห็นภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องและนำเสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ ต่อบอร์ด สปสช. ซึ่งให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งนี้ในกรณีที่งบประมาณรายจ่ายตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ไม่มีการแก้ไข

สำหรับปีงบประมาณ 2568 มีรายการใหม่ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 12 รายการ รวมเป็นงบประมาณจำนวน 2,145.23 ล้านบาท อาทิ บริการที่สถานชีวาภิบาล การรักษาภาวะมีบุตรยาก การตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับ บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และยาในบัญชี จ.2 เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์รายการใหม่ของปี 2567 และตามนโยบายรัฐบาล 11 รายการและมีบริการสิทธิประโยชน์ใหม่ของปี 2568 ที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบอีก 5 รายการ

บอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์บริหาร กองทุนบัตรทอง ปี 68  ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2568 ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการ อาทิ บริการผู้ป่วยนอกโดยกันงบประมาณจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวบริการเพื่อจ่ายสำหรับนโยบาย "บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่" บริการกรณีเฉพาะในส่วนบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้

ทั้งยังปรับระบบการจ่ายจากเดิมจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) เป็นการจ่ายที่เหมาะสม เช่น แบบ pervisit และการปรับการจ่ายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (UCEP) ภาครัฐจากจ่ายตามรายการบริการเป็นจัดสรรแบบ Grant รายปีเพื่อพัฒนาระบบบริการวิกฤตฉุกเฉินให้มีคุณภาพและจ่ายตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด

นอกจากนี้ยังมีบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยขยายขอบเขตบริการจากเดิมครอบคลุมแค่บริการฟื้นฟู เป็นครอบคลุมบริการรักษาและป้องกันได้ด้วยงบท้องถิ่น รวมถึงปรับการจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ โดยเพิ่มการจ่ายตามรายการบริการจาก 22 รายการ เป็น 28 รายการ  เช่น ค่าฉีดวัคซีนพื้นฐาน (EPI) อัตรา 20 บาท เป็นต้น

"ในวันนี้ บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มเติมงบบริการแพทย์แผนไทยจาก 20.37 บาทต่อประชากร เป็น 31.90 บาทต่อประชากร โดยขอให้ดำเนินการแปรญัตติงบประมาณเพิ่มเติมที่ระหว่างนี้อยู่ในการพิจารณาของทางสภาผู้แทนราษฎร์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการใช้ยาสมุนไพรของประเทศ" ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว  

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การออกแบบการจ่ายภายใต้งบประมาณที่คาดกว่าจะได้รับนี้ สปสช.ยึดหลักการดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติครม.ที่เกี่ยวข้อง ประกอบการเสนองบประมาณการขยายบริการที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน ตามนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่" การปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการสอดคล้องกับระบบบริการและประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม

บอร์ด สปสช. เห็นชอบหลักเกณฑ์บริหาร กองทุนบัตรทอง ปี 68  การปรับระบบการจ่ายตามรายการบริการที่เหมาะสมขึ้นและควบคุมงบประมาณได้ สนับสนุนการจ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการล้างไต การปรับการจ่ายเพื่อพัฒนาระบบบริการ บูรณาการจ่าย UCEP ภาครัฐ รวมกับ ER คุณภาพ ขยายขอบเขตบริการสาธารณสุขระดับจังหวัดให้คลอบคลุมการบริการประชาชนมากขึ้น คำนึงถึงการบริหารงบกรณีบริการสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ไม่ได้ของบไว้ในปี 2568

เน้นการจัดสรรดูแลกลุ่มเปราะบางหรือบริการที่ขาดแคลน สนับสนุนให้เกิดบริการด้านแพทย์แผนไทยและบูรณาการการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นในงบประมาณ 3 ส่วน ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบล (กปท.) และกองทุนดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงด้านสาธารณสุข

หลังจากนี้ สปสช.จะปรับปรุงประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2568 ในกรณีที่งบประมาณรายจ่าย ร่าง พ.ร.บ.งปบะมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีการแก้ไข