รายงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปริมาณโอเมก้า-3 ในการรับประทานที่เหมาะสม ในวัยผู้ใหญ่เพศหญิงปริมาณแนะนำอยู่ที่ 1.1 กรัมต่อวัน ในผู้ชาย 1.6 กรัมต่อวัน โดยอาหารที่เป็นแหล่งโอเมก้า-3 มีหลากหลาย และแต่ละชนิด ปริมาณของกรดไขมันแตกต่างกัน
อาหารง่ายๆ ที่แนะนำให้บริโภค คือ เนื้อปลา ปลาทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละปริมาณ 2-4 ช้อนกินข้าว หรือ น้ำมันปลา น้ำมันคาโนล่า หรือ พวกถั่วเปลือกแข็ง อาจบริโภคให้บ่อยมากขึ้น 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโอเมก้า-3 ที่เหมาะสม และวันนี้ “เนื้อหมู-เนื้อไก่” ก็มีโอเมก้า-3 แล้ว
รศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โอเมก้า-3 มาจากอาหารธรรมชาติที่เรารับประทานเข้าไป โดยแหล่งของโอเมก้า-3 พบได้ในปลา ปลาทะเล หรือปลาที่มีไขมันที่ค่อนข้างมาก ส่วนในปลาไทยก็มี เช่น ปลาทู ปลาทับทิม นอกจากนี้ ยังมีในถั่วเปลือกแข็ง อาทิ ถั่ววอลนัท พิสตาชิโอ เป็นต้น
โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันดี ที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยกลไกของโอเมก้า-3 จะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดการอักเสบ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เลือดไม่อุดตันเป็นลิ่มเลือด ทำให้ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ทั้งนี้ไขมันในอาหาร มีทั้งไขมันชนิดดีและไม่ดี โดยชนิดที่ไม่ดี อาทิ ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ไขมันทรานส์ (Trans fat) หากรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้คอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) สูงขึ้น และคอเลสเตอรอลตัวที่ดี (HDL) ลดลง ขณะที่การรับประทานอาหารที่เป็นไขมันชนิดดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียว จะช่วยลดไขมันตัวร้ายและไตรกลีเซอร์ไรด์ลง โอเมก้า-3 อาจเพิ่มไขมันตัวที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารที่สามารถเติมโอเมก้า-3 ลงไปในอาหารได้ โดยในต่างประเทศผลิตภัณฑ์อาหารที่นิยมเติมโอเมก้า-3 ลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ ไข่ นม ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมี "เนื้อสัตว์" ที่เพิ่มโอเมก้า-3 โดยการเลี้ยงด้วยนวัตกรรมสูตรอาหารสัตว์ที่ทำให้เนื้อสัตว์มีโอเมก้า-3 สูง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่ทำให้สามารถเข้าถึงโอเมก้า-3 ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
“อาหารสามารถป้องกันโรคได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เราเกิดโรคได้เช่นกัน หากกินไขมันสูงไป น้ำตาลมากเกินไป หรือ เค็มเกินไป ดังนั้นจึงควรบริโภคให้ได้สารอาหารครบถ้วนทุกหมู่ และการเลือกอาหารที่เหมาะสม เช่น ข้าวไม่ขัดสี เลือกที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีประโยชน์ในการสร้างพลังงานในร่างกาย ช่วยในการรักษาสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก
ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ชนิดที่ไขมันต่ำ เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ ถั่วต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึง ไขมัน หากเลือกไขมันที่ดี ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพ หากกินอาหารทุกอย่างอย่างสมดุลในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้องตามสัดส่วน ตามปริมาณที่แนะนำจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ชีวิตเราก็จะมีคุณภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาว