16 ก.ค.2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วย นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังถือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรับเรื่อง
นายปานเทพ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการเสนอร่างกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ให้ กัญชา เป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไขว่า ร่างประกาศรายชื่อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นการใช้กัญชา กัญชง อย่างมีเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ที่ใช้อย่างถูกต้องอยู่เดิม สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
โดยตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อกสเปกให้กับกลุ่มทุนใหญ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการกีดกันแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ให้จ่ายสารสกัดกัญชา
รวมถึงกัญชงเนื่องจากใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ในมาตรา 40 ระบุว่า จะต้องมีเภสัชกรดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต นั่นคือ การปลูก ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 และ 8 ที่เปิดช่องให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้
ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาแล้ว ผู้ที่จะทำได้ คือจะต้องเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชน ฟาร์มปิดขนาดใหญ่ กลุ่มทุนเพราะค่าจ้างเภสัชกรเดือนละหลักแสนบาท ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการล็อกสเปคให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ อีกทั้ง ในร่างประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่กำหนดว่าห้ามนำเข้าสารสกัดกัญชากัญชง แสดงว่ามีอะไรหรือไม่
สำหรับร่างที่นำมาเสนอวันนี้ ไม่มีการล็อคสเปกและไม่มีการกีดกันกันทางวิชาชีพ เป็นการระบุยาเสพติดให้โทษแบบมีเงื่อนไข หลักการ คือ คุ้มครองคนที่ทำถูกกฎหมายทั้งหมด ทั้งผลิตภัณฑ์วิชาชีพการแพทย์ทุกชนิดไม่มีการล็อคสเปควิชาชีพและผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายตามสมุนไพรควบคุม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญายาเสพติด
หลังจากนี้การจะจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงนั้นจะต้องมีใบจ่ายยาทางการแพทย์มาเท่านั้น แล้ววิชาชีพที่สามารถจะใช้ได้ก็จะเกี่ยวข้องทางการแพทย์เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน และผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ตามกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ รวมถึงแพทย์แผนจีน
สำหรับร่างกฎหมายคุมกัญชาแบบมีเงื่อนไขนั้นมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1.ให้ช่อดอกกัญชา ยาง สารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไข ผู้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ส่วนคนที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ร้านลักลอบนำเข้า การจำหน่ายให้เด็ก เยาวชน การเปิดร้านขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ทำตามเงื่อนไข ต้องมีบทลงโทษ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและทำได้ทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568
2.ต้องเปิดเสรีการแพทย์ในทุกวิชาชีพ โดยไม่กีดกั้นเหมือนที่ผ่านมา แพทย์ทุกสาขาต้องมีเสรีภาพในการจ่ายกัญชา โดยรับผิดชอบ และติดตามผล ซึ่งแต่ละวิชาชีพมีสภาวิชาชีพกำกับอยู่แล้ว
3.ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ ทุกสาขาอาชีพต้องเข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาก็ไม่ต้องปิดตัวแต่ต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุม สำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ทุกสาขาอาชีพ
4.สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ผู้ประกอบการ โดยผลิตภัณฑ์ที่มี "ช่อดอกกัญชา ยาง หรือสารสกัด" ต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.สมุนไพร, พ.ร.บ.อาหาร, พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง
5.เมื่อเกิดวิกฤติของเวลากับปัญหาที่สังคมห่วงใยก็สามารถแก้ได้ทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568 แต่ต้องลงรายละเอียดในปัญหาที่ละเอียดอ่อนเรื่องสิทธิประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกัน เพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2567 หรือเร่งการตรา พ.ร.บ.กัญชา กัญชงในสภาผู้แทนราษฎร ควบคู่กันไป
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงเอา กัญชง เป็นยาเสพติด ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกรู้ว่าไม่มีผลทางจิตประสาท แต่ร่างประกาศใหม่กลับจะเอากัญชงมาเป็นยาเสพติด ตรงนี้แสดงให้เห็นทั้งฟ้าทะลายโจร กัญชง กัญชา เป็นการมองมุมเดียว อย่างกัญชา มองแค่การควบคุมไม่ดีของกัญชา และไม่ตระหนักข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง นี่คือเรื่องใหญ่ แบบนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์แท้จริง
อย่างไรก็ตาม กัญชาที่ผ่านมา เหมือนพยายามหาข้อติ หาว่าใช้ไปแล้วเด็กสมองเสื่อม เรียนต่อไม่ได้ ไอคิวต่ำ อย่างข้อมูลที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ New York Academy of Sciences เชิญนักวิทยาศาสตร์สมอง อย.สหรัฐ ป.ป.ส. ถกประเด็นนี้จริงหรือไม่ และปี 2017-2018 โดยศึกษาในคู่แฝดที่สติปัญญาใกล้เคียงกันหลายพันคู่ มีการเลี้ยงดูในครอบครัว สิ่งแวดล้อมเดียวกัน โดยเทียบให้คนหนึ่งใช้กัญชาแบบสูบ อีกคนไม่ใช้ เพื่อศึกษาดูว่ากัญชามีผลต่อสติปัญญาหรือไม่
ปรากฎว่าเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งคู่ แสดงว่า กัญชาไม่มีผลต่อสติปัญญา และลักษณะการติดกัญชาไม่ง่ายเหมือนบุหรี่และแอลกอฮอล์ ทั้งการเลิกกัญชาก็สามารถเลิกได้โดยไม่มีอาการลงแดง ส่วนกรณีที่ระบุว่าผู้ใช้กัญชาแล้วทำร้ายคน ก็ไม่มีการพิสูจน์ว่าผู้นั้นใช้ร่วมกับยาเสพติดอื่นด้วย เป็นการโทษกัญชาอย่างเดียวซึ่งเป็นการให้ข้อมูลกับสังคมที่ไม่ชัดเจน
ด้านนายกองตรี ดร.ธนกฤต ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับหนังสือในวันนี้ว่า ร่างประกาศกระทรวงฯ เรื่องกัญชาที่มีการเพิ่มเติมแก้ไขเข้ามานั้น โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสมควร
2.ในส่วนของตนจะพิจารณาตรวจสอบว่า ข้อเสนอขัดกับประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือไม่เพราะศักดิ์กฎหมายไม่เท่ากันจะไปขัดกับกฎหมายใหญ่ไม่ได้ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อระบุว่าเป็นยาเสพติด ก็ต้องเป็นยาเสพติด แต่กรณีที่ว่าต้องมีเงื่อนไข จะทำได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมายก่อน