รู้จัก ไซยาไนด์ สารพิษร้ายแรงที่แฝงตัวในชีวิตประจำวัน

17 ก.ค. 2567 | 05:20 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 05:20 น.

ไขข้อสงสัย ไซยาไนด์ ที่กำลังถูกพูดถึง สารพิษอันตรายที่พบได้ทั้งในธรรมชาติและอุตสาหกรรม แหล่งที่มาและอาการสำคัญเมื่อได้รับพิษ พร้อมเปิดวิธีป้องกันตัวจากอันตรายที่อาจแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา

"ไซยาไนด์" ถูกพูดถึงและกลับมาอยู่ในกระแสของสังคมอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมภายในโรงแรมชื่อดังย่านราชประสงค์ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ 6 ราย ล่าสุดมีรายงานว่า เหตุฆาตกรรมดังกล่าวเกิดจากการถูกวางยาด้วยสารพิษไซยาไนด์ ทำให้เราต้องกลับมาสนใจและให้ความสำคัญในเรื่องของสารพิษ "ไซยาไนด์" กันอีกครั้ง 

ไซยาไนด์ คือ อะไร 

สารไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาก พบได้ 2 รูปแบบ คือ

1.ลักษณะของแข็ง เรียกว่า เกลือไซยาไนด์ เป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปแตสเซียมไซยาไนด์

2.ลักษณะของก๊าซ เรียกว่า ไฮโดรเจนไซยาไนด์

เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะไปยับยั้งขบวนการทำงานของเซลล์ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตตก รวมถึงเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนส่งผลทำให้ชักหรือหมดสติและมีการหายใจช้าถึงหยุดหายใจ 

นอกจากนี้ยังพบได้ตามธรรมชาติในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้ ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม โดยอยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์ต่าง ๆ กัน หากรับประทานในปริมาณมาก ๆ อาจเกิดการสะสมเป็นพิษได้โดยเฉพาะหน่อไม้หมักดองและมันสำปะหลัง จึงควรต้องทำความสะอาดและทำให้สุกก่อนรับประทาน

ไซยาไนด์ (cyanide)

เป็นสารพิษธรรมชาติที่พบได้ทั้งในสัตว์ แมลง แบคทีเรีย และพืชจำนวนมาก เช่น หัวมันสำปะหลัง หน่อไม้ และผักไชยา ซึ่งหากนำมารับประทานแบบดิบในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการพิษจากไซยาไนด์

ไซยาไนด์ ถูกนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมในหลายด้าน อาทิ การถลุงแร่เงินหรือทองคำ, การผลิตสี พลาสติก และยางสังเคราะห์, การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ในอดีตยังมีการใช้เป็นยาเบื่อหนูและใช้ในการเตรียมบ่อกุ้ง มนุษย์และสัตว์ มีโอกาสได้รับไซยาไนด์จากหลายแหล่ง

อาหารปนเปื้อนไซยาไนด์ที่เตรียมไม่ถูกวิธี 

-ควันบุหรี่ ไอเสียจากรถยนต์

-ควันไฟจากการเผาไหม้ขนสัตว์ ผ้าไหม ไนลอน 

-แหล่งน้ำที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตร

-การเข้าสู่ร่างกายอาจเกิดได้ทั้งทางปาก ทางลมหายใจ หรือการสัมผัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยาว

ไซยาไนด์มี 3 รูปแบบ

รูปแบบของผงสีขาวที่เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่นแต่หากได้รับความชื้นจะเปลี่ยนรูปเป็นแก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งมีกลิ่นฉุน 

  • รูปแบบของของเหลว 
  • รูปแบบของแก๊ส

อาการของผู้ที่ได้รับไซยาไนด์

ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับสารพิษ และความปริมาณของสารพิษที่ได้รับ อาการเหล่านี้ ได้แก่

  • ระคายผิวหนัง
  • ผื่นแดง
  • บวมน้ำ
  • มึนงง
  • คลื่นไส้
  • กระวนกระวาย
  • การรับรสผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ลมชัก
  • หมดสติ
  • อาเจียน
  • ไตล้มเหลว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจหยุดเต้น

ไซยาไนด์ เป็นสารที่มีพิษร้ายแรง จึงมีกฎหมายควบคุม ดังนี้ไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

บทลงโทษ

ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา มหาวิทยาลัยมหิดล, MedPark Hospital