“ภาวะพร่องฮอร์โมน” โรคฮิตของชายวัย 45

18 ก.ค. 2567 | 04:45 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 04:48 น.

เปิด 5 สาเหตุ “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” โรคยอดฮิตของชายวัย 45 ปีขึ้นไป ต้นเหตุความจำเสื่อม นอนไม่หลับ อ้วนลงพุง และนกเขาไม่ขัน

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย”  คือภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงอย่างผิดปกติ มักพบได้ในเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ลักษณะอาการของภาวะพร่องฮอร์โมน เช่น อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง    ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ อ้วนลงพุง ความต้องการทางเพศลดลง หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย วินิจฉัยสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

1.ตามธรรมชาติ

2.การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ เช่น ได้รับการบาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงจากการฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัด การติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ

3.โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศ

4.โรคที่เกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมน ภายในร่างกาย เช่น โรคเอดส์ โรคตับ-ไตเรื้อรัง มีระดับไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคอ้วน

5.มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานหนัก มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน      

ด้านนายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ภาวะพร่องฮอร์โมน มีลักษณะอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง โดยอาการที่พบได้ มีดังนี้ ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศชายแข็งตัวยาก หรือแข็งตัวได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่า “นกเขาไม่ขัน” รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ อ้วนลงพุง หรือมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว มีมวลกล้ามเนื้อ และมวลกระดูกลดลง นอนไม่หลับความจำเสื่อม

“ภาวะพร่องฮอร์โมน” โรคฮิตของชายวัย 45

ขณะที่นายแพทย์วราทร ลำใย นายแพทย์ชำนาญการ เฉพาะทางด้านทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า  การรักษาโรคภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สามารถรักษาได้ด้วยการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย  2 วิธี ได้แก่

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น ได้แก่ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนัก นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2.รักษาด้วยยา เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมส่วนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยปัจจุบัน 2 รูปแบบหลัก คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทาที่ผิวหนัง