1 สิงหาคม 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนมักพบการระบาดของกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 โรคปอดอักเสบและโรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งไวรัส RSV มักพบการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็กเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ (Sentinel Surveillance) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 - 20 กรกฎาคม 2567 โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐด้านสาธารณสุข
พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส RSV จำนวน 1,239 ราย จากผู้ป่วยทางเดินหายใจ 19,983 ราย (ร้อยละ 6.20) อายุระหว่าง 9 วัน - 87 ปี (มัธยฐานอายุ 2 ปี)
ตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จำนวน 578 ราย (ร้อยละ 46.65) รองลงมา คือ อายุ 2 - 5 ปี 478 ราย (ร้อยละ 38.58) และอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 183 ราย (ร้อยละ 14.77) ในส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบติดเชื้อ RSV จำนวน 29 ราย (ร้อยละ 2.34)
ทั้งนี้ จำแนกเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง 20 ราย (ร้อยละ 68.97 ของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ) จากผู้ติดเชื้อ RSV ดังกล่าว พบว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.24 อายุต่ำสุด 1 ปี 8 เดือน และสูงสุด 86 ปี
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคฯ ของกองระบาดวิทยา พบว่า เชื้อ RSV มักจะเป็นสาเหตุของการเกิด ปอดอักเสบรุนแรงในเด็กและผู้สูงอายุ จากลักษณะทางระบาดวิทยาในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา จะพบโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเดียวกับฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้อาการและการติดต่อมีความคล้ายกันจึงคาดว่า จะเริ่มมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงระยะนี้เป็นต้นไปซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจากไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่างๆ และเชื้อยังแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม เช่นเดียวกับโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
ด้านนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค เน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่และโควิด 19
1.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
2.เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
3.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม
4.หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย
5) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
1.หยุดพักรักษาที่บ้าน และสวมหน้ากากอนามัย หมั่นทำความสะอาดบ้านเพื่อลดเชื้อ
2.ดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่งไม่เหนียวจนเกินไป
3.หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422