5 สัญญาณอันตราย มะเร็งช่องปาก ที่ไม่ควรมองข้าม

06 ส.ค. 2567 | 06:10 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 06:13 น.

มะเร็งช่องปาก ติดอันดับ 1 ใน 10 โรคที่พบบ่อยในไทย เรียนรู้ 5 อาการสำคัญบ่งชี้ความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญแนะการป้องกันและตรวจคัดกรองอย่างถูกวิธี

มะเร็งช่องปาก เป็นโรคที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่พบได้บ่อยในประเทศไทยโดยชนิดของมะเร็งช่องปากที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มะเร็ง Squamous cell carcinoma พบได้ประมาณร้อยละ 96 ของมะเร็งในช่องปาก อีกร้อยละ 4 เป็นมะเร็งชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Sarcoma) มะเร็งช่องปาก มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ตำแหน่งด้านใต้ขอบข้างของลิ้น (Ventrolateral border)

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะอาการแสดงที่สำคัญของ มะเร็งช่องปากว่า มีได้หลายลักษณะ ดังนี้ แผลในช่องปากที่มีรอยโรคสีแดง (Erythroplakia) สีขาว (Leukoplakia) หรือสีขาวแดง (Erythroleukoplakia) ขอบของรอยโรคมีลักษณะแข็ง แผลเป็นก้อน หรือ รอยโรคคล้ายแผลร้อนในแต่ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์

แผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นก้อนบวมโตอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีก้อนติดอยู่ที่คอ กลืน หรือเคี้ยวอาหารลำบาก อาจมีอาการชา เจ็บปวด หรือเลือดไหลได้โดยไม่ทราบสาเหตุ กรณีที่ลุกลามไปที่กระดูกและกล้ามเนื้อ รอยโรคจะยึดติดกับอวัยวะข้างใต้ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต

ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองผู้ป่วยอาจมีความแตกต่างกันขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยโดยสามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีรอยโรค

อายุน้อยกว่า 40 ปี และไม่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปาก

  • ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 1 ปี

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่ไม่มีรอยโรค

อายุ 40 ปีขึ้นไป และหรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นประจำ มีประวัติติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HPV (Human papilloma virus)

  • ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 6 เดือน

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีรอยโรคสีแดงและหรือสีขาว

มีแผลเรื้อรังที่คงอยู่หลังกำจัดสาเหตุการเกิดแผลแล้วเป็นเวลามากกว่า 2 อาทิตย์

  • ควรได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจ หากผลตรวจชิ้นเนื้อแสดงผลว่าไม่มีความผิดปกติ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 3 เดือน 

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจนแต่ผู้ป่วยสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ โดยมีแนวทางการป้องกันคือการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ กินหมาก ดื่มแอลกอฮอลล์ การทำความสะอาดช่องปากให้มีสุขอนามัยที่ดี

หากมีการสวมใส่ฟันปลอมควรเป็นฟันปลอมที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังในช่องปาก หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หากมีความผิดปกติใด ๆ สามารถพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจได้ที่สถาบันทันตกรรม โรงพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน