เฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม พบผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อ-ทางเดินหายใจสูงสุด

29 ส.ค. 2567 | 08:30 น.

สมศักดิ์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เผยกระทบสถานบริการสาธารณสุข 30 แห่ง ปิด 5 แห่ง คาดเปิดได้ 2 ก.ย.นี้ สั่งเร่งมอบยา-เวชภัณฑ์ด่วน กำชับเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำจังหวัดต่อไป

29 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีวาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่มโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข 

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์และผลกระทบด้านการแพทย์จากเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่มซึ่งขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 29 ราย บาดเจ็บ 40 ราย สูญหาย 1 ราย

สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่จากเหตุดินถล่ม ส่วนสถานบริการสาธารณสุข ที่ได้รับผลกระทบขณะนี้มีจำนวน 30 แห่งซึ่งเปิดได้ตามปกติ 25 แห่งและปิด 5 แห่ง

สำหรับสถานบริการสาธารณสุขที่ปิดทั้งหมดอยู่ในจังหวัดแพร่ แบ่งเป็น สสอ.1 แห่ง คือ สสอ.เมืองแพร่ และ รพ.สต. 4 แห่ง คือ รพ.สต.น้ำโค้ง รพ.สต.วังธง รพ.สต.สบสาย และรพ.สต.ปงพร้าว อย่างไรก็ดีที่ปิดทั้งหมดนั้นคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติในวันที่ 2 ก.ย.นี้

ส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  5 แห่ง คือ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และสุโขทัย โดยมีการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว แบ่งเป็น ผู้ป่วยติดเตียง 457 ราย หญิงตั้งครรภ์ 10 ราย และผู้พิการ 4 ราย

เฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม พบผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อ-ทางเดินหายใจสูงสุด

นอกจากนี้ยังได้มีการส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 29 ทีม เยี่ยมบ้านแล้ว 441 หลัง แจกยาชุด 540 ชุด ตรวจรักษา 281 ราย ให้สุขศึกษา 317 ราย ตรวจสุขภาพจิต 289 ราย และมอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม 2,920 ชุด

เฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม พบผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อ-ทางเดินหายใจสูงสุด

ส่วนการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ได้มอบยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว 12,523 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน 3,776 ชุด ยารักษาน้ำกัดเท้า 3,333 ชุด ยาทากากเกลื้อน 96 ชุด และยากันยุง 4,000 ชุด

ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลโรคที่ประชาชนเข้ารับการรักษาสะสม จำนวนมาก เช่น ระบบกล้ามเนื้อ 14 ราย ระบบทางเดินหายใจ 9 ราย ปวดศีรษะ 5 ราย ระบบทางเดินอาหาร 5 ราย และโรคติดเชื้อจากไวรัส 5 ราย 

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่โดยเฉพาะการมอบถุงยังชีพยาและเวชภัณฑ์เพื่อให้ทันต่อความเดือดร้อนของประชาชนเพราะยาและเวชภัณฑ์ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้ประสบภัย

เฝ้าระวังโรคหลังน้ำท่วม พบผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อ-ทางเดินหายใจสูงสุด

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำจังหวัดต่อไปด้วยทั้ง พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ โดยขอให้ สสจ. และโรงพยาบาลทุกแห่งดำเนินการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชน จัดเตรียมสำรองเวชภัณฑ์และยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง อย่างเร่งด่วนด้วย