พ่อแม่ควรรู้ วิธีป้องกัน RSV ไวรัสตัวร้าย ช่วยลูกน้อยห่างไกลโรค

01 ก.ย. 2567 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2567 | 07:18 น.

ฤดูฝนทีไรคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะเกิดความกังวล เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ลูกน้อยป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV” อาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า     โรค RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจได้ทั้งทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง

พ่อแม่ควรรู้ วิธีป้องกัน RSV ไวรัสตัวร้าย ช่วยลูกน้อยห่างไกลโรค

 

พบได้ในเด็กทุกช่วงวัย จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการติดเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 2-5 ปี ซึ่งโรค RSV จะมีการระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี 

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน ให้ข้อมูลต่อว่า เด็ก ๆ ที่ติดเชื้อ RSV จะเริ่มแสดงอาการรุนแรงหลังจากเด็กติดเชื้อมาแล้ว 4-6 วัน เนื่องจากเชื้อ RSV จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 5 วัน โดย 2-4 วันแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ๆ หรือขาวขุ่นปริมาณมาก คอแดง หลังจากนั้นจะเริ่มไอและมีไข้สูงถึง 39-40 องศา

เมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลต่อทางเดินหายในส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ หายใจเร็วและหายใจลำบาก กล่องเสียงอักเสบ และส่งผลให้เกิด “โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ”

คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อย หากมีความเสี่ยงให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว อันตรายถึงชีวิตได้

วิธีรักษาโรค RSV

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค RSV แพทย์จะทำการประเมิน และรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก

พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน  กล่าวปิดท้ายว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กและไม่อยากให้ลูกป่วยเป็นโรค RSV สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อย ๆ ป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
  • สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กเล็ก และทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กโต
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • งดพาเด็กไปเล่นในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า
  • แยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซักล้าง ทำความสะอาดหลังใช้งาน

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันลูกน้อยจากโรค RSV ในปัจจุบันมี “โปรแกรมยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” ลักษณะเหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไป เพื่อกระตุ้มภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ลดความรุนแรงของโรค โดย “ยาเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัส RSV” เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในป้องกันโรค RSV ให้กับเด็ก ๆ

โดยแนะนำฉีด 5 เข็ม ฉีดเดือนละ 1 เข็มในฤดูที่มีการระบาด เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด, เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่มีโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจหัวใจ หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ