หลังจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา และถัดจากนั้น จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายนนั้น หนึ่งในนโยบายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส คือ ด้านสาธารณสุข
ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub)โดยอาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ส่งเสริมการผลิตและใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และนวัตกรรม
ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มายกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียม มาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางบริการ ทางการแพทย์ของภูมิภาค
การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ สติปัญญา และสังคม โดย
1. การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ
2. การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ
3. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี
4. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี
5. การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่
การจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน
ยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม จาก “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” เป็น “๓๐ บาทรักษาทุกที่ ” ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุข
ขยายเครือข่ายการบริการระดับปฐมภูมิ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย
สานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และใช้ศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขในการส่งเสริม ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยเน้นการป้องกัน (Prevention) ให้ความรู้และการสร้างความตระหนัก