เภสัชฯ จุฬาฯ คิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” รอยแผลเป็นนูน-รอยดำ

17 ก.ย. 2567 | 08:33 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2567 | 08:35 น.

เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โชวผลงานคิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” ตัวช่วยสำหรับรอยแผลเป็นนูน-รอยดำ จากสารสกัดพืชบัวบก การันตีคว้ารางวัลเหรียญทองนวัตกรรมระดับนานาชาติ ITEX 2024 และ Korea Invention Promotion Association

ปัญหารอยแผลเป็นที่ติดตัว ทั้งแผลเป็นนูน และแผลเป็นที่อยู่นอกร่มผ้า ซึ่งนอกจากจะหายยาก หรือาจจะเป็นไปตลอดชีวิต ทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ แม้จะพยายามหาวิธีรักษาไม่ว่าจะเป็นผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ เลเซอร์ และใช้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อลบเลือนรอยแผล ก็ยังไม่สำเร็จเห็นผล

ล่าสุดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เผยผลสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรม  “เจลทรานสเฟอร์โซม”ทางเลือกใหม่สำหรับรอยแผลเป็นนูน ซึ่งทำมาจากสารสำคัญที่พบได้ในพืชบัวบกผนวกเทคนิคพิเศษ และผลงานชิ้นนี้ยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลเหรียญทองนวัตกรรมระดับนานาชาติ ITEX 2024 และรางวัลพิเศษ จาก Korea Invention Promotion Association

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของการรักษารอยแผลเป็นเป็นปัญหาหนึ่งที่หลายคนพบเจอ จึงเป็นที่มาของการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม  “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นี้

จากการศึกษาพบว่า “กรดเอเชียติก” ในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนังได้ดี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทาแผลเป็นได้โดยตรง จึงพัฒนาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในบัวบกให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนำกรดเอเชียติกของบัวบกมาบรรจุลงในอนุภาคทรานสเฟอร์โซมในรูปแบบเจลเพื่อให้สามารถเกาะและซึมลงผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น

“การฉีดยาสเตียรอยด์จะทำให้ผิวบางลง การเลเซอร์ก็ทำให้เจ็บ ส่วนผลิตภัณฑ์ลบเลือนแผลเป็น โดยมากก็นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง”

เภสัชฯ จุฬาฯ คิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” รอยแผลเป็นนูน-รอยดำ

นวัตกรรมทรานสเฟอร์โซมคืออะไร

“กรดเอเชียติก” จากพืชบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อ และทำให้แผลสมานตัวได้ดี แต่เป็นสารละลายน้ำได้ยาก เมื่อทาลงบนผิวโดยตรง สารดังกล่าวจะไม่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเทคโนโลยีที่จะช่วยนำส่ง “สารเอเชียติก” จากบัวบกเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่าทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes)

แผลเป็นนูนเกิดจากอะไร

ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร อธิบายว่า กระบวนการของร่างกายที่พยายามจัดการกับบาดแผลและสมานแผล 3 ขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ร่างกายจะพยายามทำให้เลือดหยุดไหล มีการอักเสบเกิดขึ้นเพื่อทำลายเชื้อโรคและกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว
  • ขั้นตอนที่ 2 ร่างกายพยายามสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเนื้อเยื่อที่ตายไป
  • ขั้นตอนที่ 3 ร่างกายพยายามปรับรูปร่างแผล เพื่อให้กลับมาใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด

“หากกระบวนการสมานแผลในขั้นตอนที่ 2 ไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากเกิดการอักเสบยาวนานเรื้อรังหรือรุนแรง ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสมานแผลได้ตามปกติ ส่งผลให้การทำงานของร่างกายในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนการปรับรูปร่างให้แผลกลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมผิดปกติไปด้วย ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้เกิดรอยแผลนูนขึ้นมา”

เภสัชฯ จุฬาฯ คิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” รอยแผลเป็นนูน-รอยดำ

ทรานสเฟอร์โซมเจลรักษาแผลเป็นนูนได้อย่างไร

การอักเสบเรื้อรังคือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการอักเสบที่มากเกินไปได้ ก็จะช่วยลดการนูนของบาดแผลได้

“เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบบริเวณผิวหนัง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยลดโอกาสการนูนของบาดแผลได้มาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช้า-เย็นใน 2 สัปดาห์แรก ร่างกายจะปรับรูปร่างเนื้อที่นูนให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด”

นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องแผลเป็นนูนแล้ว “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ยังสามารถใช้กับแผลเป็นที่มีรอยดำ อันเกิดมาจากสิว การแกะเกาแผล หรือแผลตกสะเก็ดได้ด้วย

“เราสามารถใช้เจลนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยไม่มีอันตรายใด ๆ เนื่องจากเจลทรานสเฟอร์โซม มีส่วนประกอบของสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน CosIng EU database ว่า “มีความปลอดภัย เมื่อใช้บนผิวหนัง”

ด้วยคุณสมบัติของเจลทรานสเฟอร์โซมที่สามารถลดรอยด่างดำและเพิ่มความยืนหยุ่นของผิวหนัง เราสามารถนำไปปรับสูตรเพื่อต่อยอดกับผลิตภัณฑ์สำหรับการชะลอวัยได้เช่นกัน  โดยนวัตกรรม “เจลทรานส์เฟอร์โซมกักเก็บกรดเอเชียติก” เป็นผลงานสตาร์ทอัพโดยบริษัท บิวตี้ แพลนท์ แลบอราทอรี จำกัด ภายใต้การบริหารงานของคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

พร้อมกันนี้ได้รับการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub ขณะนี้ผลงานได้ทำการจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง โดยตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์หรือยาในอนาคตด้วย